27 พฤศจิกายน 2554

ได้ทั้งงาน ได้ทั้งธรรม

ได้ทั้งงาน ได้ทั้งธรรม

 

        การทำงานสามารถเป็นการปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา หากเราทำด้วยแรงจูงใจที่เป็นกุศล เช่น ทำเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น หรือเพื่อฝึกฝนพัฒนาตน โดยมุ่งให้มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง อดทนมากขึ้น หรือทำโดยมีธรรมะเข้ามากำกับ เช่น ทำด้วยความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อหน้าที่ หรือทำด้วยความปรารถนาดีต่อส่วนรวม

        เมื่อถึงที่ทำงาน ก่อนเริ่มงานควรหาเวลาทำใจให้สงบสักครู่ อยู่กับลมหายใจสักพัก แล้วตั้งจิตเตือนใจนึกถึงธรรมะที่ต้องการน้อมนำมาปฏิบัติ หรือย้ำเตือนตนเองว่าจะทำงานด้วยความเพียร ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค พร้อมเปิดใจรับฟังคำวิจารณ์หรือความเห็นที่ต่างจากตน เป็นต้น การตั้งจิตมั่นดังกล่าว คือความหมายที่แท้จริงของคำว่า “อธิษฐาน” (ซึ่งไม่ได้แปลว่าการขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เข้าใจกัน) การเริ่มงานด้วยการอธิษฐานในความหมายดังกล่าว จะช่วยเตือนใจไม่ให้เราพลัดเข้าไปในอารมณ์อกุศลที่บั่นทอนจิตใจและการงาน


        การงานยังเป็นโอกาสสำหรับการเจริญสติ โดยเฉพาะงานการที่ไม่ต้องใช้ความคิดมาก เช่น ล้างจาน ถูบ้าน ซักผ้า ในขณะที่ทำงาน ใจก็อยู่กับงาน รับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของมือและอวัยวะส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องไปเพ่งหรือจดจ่อแนบแน่นเกินไปนัก ถ้าจิตเผลอฟุ้งปรุงแต่งไปนอกตัว ระลึกรู้เมื่อใดก็พาจิตกลับมาอยู่กับงาน จิตจะฟุ้งไปเท่าไร ก็ไม่รำคาญหงุดหงิด แต่ถึงหงุดหงิดก็รู้ว่าหงุดหงิด ไม่ปรุงแต่งมากไปกว่านั้น


       แม้เป็นงานที่ต้องใช้ความคิด ก็ยังควรเอาสติมาใช้กับงานอยู่นั่นเอง เช่น คิดเรื่องอะไร ก็ให้สติกำกับใจอยู่กับเรื่องนั้น หากเผลอไปคิดเรื่องอื่น ก็ให้สติพาใจกลับมาอยู่กับเรื่องเดิมจนกว่าจะแล้วเสร็จ หากย้ำคิดย้ำครุ่นไม่ยอมเลิก สติก็จะช่วยให้ปล่อยวางได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญก็คือไม่ว่าจะทำอะไร อย่าปล่อยใจไปพะวงกับเรื่องข้างหน้า ว่าเมื่อไรจะเสร็จ เสร็จแล้วจะเป็นอย่างไร หรือติดสะดุดกับเรื่องราวในอดีต ควรมีสติรู้อาการดังกล่าว แล้วพาใจกลับมาอยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ใจที่มัวพะวงกับอดีตหรืออนาคต จะทำงานด้วยความเครียด ส่วนใจที่อยู่กับปัจจุบันโดยมีสติเป็นเครื่องกำกับ จะทำงานด้วยความผ่อนคลาย โปร่งเบามากกว่า เพราะจิตไม่มีเรื่องหนักใจให้ต้องแบก


       การทำงานยังสามารถเป็นการปฏิบัติธรรมได้หากรู้จักใช้งานเป็นเครื่องขัดเกลา หรือลดละอัตตา เช่น ทำงานโดยคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าของตัวเอง หรือฝึกใจไม่ให้หวั่นไหวต่อคำสรรเสริญและคำตำหนิ ความสำเร็จและความล้มเหลว เมื่อใดที่ถูกวิจารณ์ ก็ถือว่าเป็นของดีที่มาช่วยสยบอัตตาไม่ให้เหลิง หรือทดสอบสติว่าจะมาทันการหรือไม่ หากเผลอโกรธ ก็ถือว่าสอบตก แต่ก็ยังสามารถแก้ตัวใหม่ได้เสมอ

25 พฤศจิกายน 2554

เมตตาระงับความโกรธ

เมตตาระงับความโกรธ

 

 

      วิธีที่จะแก้ไขจิตใจให้มีความโกรธน้อยให้มีความโกรธยากจนถึงไม่ให้มีความ โกรธเลย จำเป็นต้องสร้าง ความเมตตา ให้เกิดขึ้นในจิตใจให้มากพอจะยอมเข้าใจในเหตุผลของบุคคลอื่นที่ทำผิดพลาด หรือ บกพร่อง

      ขณะเดียวกันจำเป็นต้องฝึกใจให้มีเหตุผล ให้เห็นเหตุผลเป็นสิ่งสำคัญเป็นสิ่งควรเคารพ เมื่อเหตุผลเป็นสิ่งสำคัญในจิตใจของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นจักเป็นผู้ไม่ใช้อารมณ์ ถึงแม้จะโกรธแล้ว แต่เมื่อเหตุผลเกิดขึ้น ก็จะสามารถทำให้ความโกรธดับลงได้จะไม่แสดงอารมณ์โกรธอย่างผู้ไม่มีเหตุผล


      และถ้าหมั่นอบรมเหตุผลหรือปัญญาประกอบด้วยเมตตาให้เกิดขึ้นเสมอในจิตใจ แม้มีเรื่องที่ผิดหูผิดตาผิดใจเกิดขึ้น เหตุผลอันประกอบด้วยเมตตาก็จะเกิดขึ้นก่อนอารมณ์จะเกิดไม่ทัน หรือเกิดทันบ้างตามวิสัยของผู้เป็นปุถุชนไม่สิ้นกิเลส ก็จะเบามากและน้อยครั้งมาก


      ทั้งผู้โกรธยาก โกรธน้อย และผู้โกรธง่าย โกรธมากควรอย่างยิ่งที่จะได้สนใจสังเกต ให้รู้ว่าจิตใจของตนมีความสุขทุกข์เย็นร้อนอย่างไร ทั้งในเวลาที่โกรธและในเวลาที่ไม่โกรธปกตินั้น เมื่อโกรธก็มักจะเพ่งโทษไปที่ผู้อื่นว่าเป็นเหตุให้ความโกรธเกิดขึ้น คือมักจะไปคิดว่าผู้อื่นนั้นพูดเช่นนั้น ทำเช่นนั้นที่กระทบกระเทือนถึงผู้โกรธ


      การเพ่งโทษผู้อื่นเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการทำให้จิตใจตนเองสบาย ตรงกันข้าม กลับเป็นการเพิ่มความไม่สบายให้ยิ่งขึ้นเพียงนั้น แต่ถ้าหยุดเพ่งโทษผู้อื่นเสีย เขาจะพูดจะทำอะไรก็ตาม อย่าไปเพ่งดู ให้ย้อนเข้ามาเพ่งดูใจตนเอง ว่ากำลังมีความสุขทุกข์อย่างไร มีอารมณ์อย่างไร ใจจะสบายขึ้นได้ด้วยการเพ่งนั้น


      กล่าวสั้นๆ คือ การเพ่งดูผู้อื่นทำให้ตนเองไม่เป็นสุข แต่การเพ่งดูใจตนเองทำให้เป็นสุขได้ แม้กำลังโกรธมาก หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นว่ากำลังโกรธมาก ความโกรธก็จะลดลง เมื่อความโกรธน้อย


      หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นว่ากำลังโกรธน้อยความโกรธ ก็จะหมดไป จึงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะกำลังมีอารมณ์ใดก็ตาม โลภหรือโกรธ หรือหลงก็ตาม หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นอารมณ์นั้นแล้ว อารมณ์นั้นจะหมดไป ได้ความสุขมาแทนที่ทำให้มีใจสบาย ทุกคนอยากสบาย แต่ไม่ทำเหตุที่จะให้เกิดเป็นความสบาย


      ดังนั้น จึงยังหาผู้สบายได้น้อยเต็มที ยิ่งกว่านั้น ทั้งๆ ที่ทุกคนอยากสบาย แต่กลับไปทำเหตุที่จะให้ผลเป็นความไม่สบายกันเป็นส่วนมาก ดังนั้น จึงได้รับผลเป็นความไม่สบายตามเหตุที่ทำ เพราะดังได้กล่าวแล้ว ทำเหตุใดต้องได้รับผลของเหตุนั้นเสมอไป

เหตุดีให้ผลดี เหตุชั่วให้ผลชั่ว เหตุแห่งความสุขให้ผลเป็นความสุข เหตุแห่งความทุกข์ให้ผลเป็นความทุกข์ ต้องทำเหตุให้ตรงกับผล จึงจะได้ผลที่ปรารถนาต้องการ ควรมีสติระลึกถึงความจริงนี้ไว้ให้สม่ำเสมอ

      ใจที่ไม่มีค่าคือ ใจที่ร้อนรนกระวนกระวาย


ใจที่มีค่าคือใจที่สงบเยือกเย็น นำความจริงนี้เข้าจับ ทุกคนจะรู้ว่าใจของตนเป็นใจที่มีค่าหรือไม่มีค่า ความโกรธทำให้ร้อน ทุกคนทราบดี จึงน่าจะทราบต่อไปด้วยว่า ความโกรธเป็นสิ่งที่ทำให้ใจไม่มีค่าหรือทำให้ค่าของใจลดน้อยลง


      ของมีค่ากับของที่ไม่มีค่าอย่างไหนเป็นของดี อย่างไหนเป็นของไม่ดี อย่างไหนควรปรารถนา อย่างไหนไม่ควรปรารถนา ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่อย่างชัดแจ้งแต่เพราะขาดสติเท่านั้น จึงทำให้ไม่ค่อยได้รู้ตัว ไม่สงวนรักษาใจของตนให้เป็นสิ่งมีค่าพอสมควร ต้องพยายามทำสติให้มีอยู่เสมอจึงจะรู้ตัว สามารถสงวนรักษาใจให้เป็นสิ่งที่มีค่าได้ คือสามารถยับยั้งความโลภ ความโกรธ ความหลง มิให้เกิดขึ้นจนเกินไปได้


      สามัญชนยังต้องมีความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่สามัญชนที่มีสติ มีปัญญา มีเหตุผล ย่อมจะไม่ให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง มีอำนาจชั่วร้ายเหนือจิตใจ ย่อมจะใช้สติ ใช้ปัญญา ใช้เหตุผล ทำใจให้เป็นใจที่มีค่า



ที่มา  : พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

สอนตนเองให้ได้

สอนตนเองให้ได้



          บุคคลที่จะประสบความสำเร็จ  ในการสร้างบารมีจะ ต้องรักในการฝึกฝนตนเองทั้งกาย  วาจา  และใจ  หมั่นปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ได้ก่อนในทุกรูปแบบ  เพราะถ้าเราสามารถสอนตนเองได้  มีความอดทน  รู้จักยกใจตนเอง  ให้สูงขึ้นเหนืออุปสรรคทั้งมวล  และรักษาใจให้ผ่องใสเป็นประจำ  ไม่ยอมรอคอยกำลังใจจากใคร  เราก็จะประสบความสำเร็จในการสร้างบารมีอย่างแน่นอน
 
          เหมือนดังเรื่องของหญิงสาวคนหนึ่ง  ผู้เป็นธิดาของนายช่างหูก  ผู้รู้จักสอนตนเองด้วยการทำตามโอวาทของพระบรมศาสดา  จนประสบความสำเร็จในการสร้างบารมีในที่สุด  มีเรื่องราวดังนี้
 
          ในสมัยหนึ่ง  พระบรมศาสดาเสด็จไปเมืองอาฬวี  ได้ทรงประทานโอวาทให้แก่มหาชนว่า  “ท่านทั้งหลายจงเจริญมรณานุสสติว่า  ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน  ความตายของเราแน่นอน  เราพึงตายแน่แท้  ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด  ชีวิตของเราไม่เที่ยง  แต่ความตายเที่ยง  เพราะฉะนั้น...พวกท่านทั้งหลายพึงเจริญมรณานุสสติเถิด”  เมื่อทรงประทานโอวาทเสร็จ  พระบรมศาสดาก็เสด็จกลับวัดพระเชตะวัน
 
          มหาชนครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนานั้น แล้ว  บางส่วนก็ปฎิบัติตาม  บางส่วนก็ไม่ค่อยนำไปปฏิบัติเท่าที่ควร  ยังมัวประมาทในชีวิตเหมือนเดิม  ส่วนธิดาของนายช่างหูกคนหนึ่งนางอายุเพียง  ๑๖  ปี  แต่มีปัญญาสอนตนเองได้  นางได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับตนเอง  เมื่อกลับมาที่บ้านก็ได้ทำการบ้านที่พระบรมศาสดาทรงประทานให้  ด้วยการเจริญมรณานุสสติอยู่ตลอดเวลา
 
 
          สามปีต่อมา  พระบรมศาสดาเสด็จไปโปรดชาวเมืองอาฬวีอีกครั้ง  ธิดาช่างหูกก็มีโอกาสมาเข้าเฝ้าเพื่อฟังพระธรรมเทศนาเหมือนเดิม  ในครั้งนั้น...พระบรมศาสดาถามเธอในท่ามกลางบริษัทว่า
 
          พ.  “กุมาริกา  เธอมาจากไหน?”
          ธ.  “ไม่ทราบ  พระเจ้าข้า”
          พ.  “เธอจะไปไหน?”
          ธ.   “ไม่ทราบ  พระเจ้าข้า”
          พ.   “เธอไม่ทราบหรือ?”
          ธ.   “ทราบพระเจ้าข้า”
          พ.   “เธอทราบหรือ?”
          ธ.  “ไม่ทราบ  พระเจ้าข้า”
 
          เมื่อธิดาช่างหูกตอบปัญหาเพียงคำว่า  “ทราบ”  กับ  “ไม่ทราบ”  เท่านั้น  ทำให้มหาชนเกิดความไม่พอใจกันใหญ่  เพราะคิดว่า  ธิดาช่างหูกพูดเล่นลิ้นกับพระพุทธเจ้า  ดังนั้นเพื่อคลายความสงสัยของมหาชน  พระบรมศาสดาจึงตรัสถามต่อไปว่า
 
          “กุมาริกา  เมื่อเราถามว่า  “เธอมาจากไหน?”  ทำไมเธอจึงตอบว่า  ไม่ทราบ”
 
           กุมาริกาผู้มีปัญญาลึกซึ้งได้ทูลคอบว่า  “หม่อมฉันไม่ทราบว่า  ตัวเองเกิดมาจากไหน  จึงตอบว่า  ไม่ทราบ”


          พระบรมศาสดาทรงประทานสาธุการว่า  “ดีละ  กุมาริกาเธอมีปัญญาแก้ปัญหาที่ตถาคตถามได้ดีแล้ว”
 
          ทรงถามข้อต่อไปว่า  “เมื่อเราถามว่า  “เธอจะไปไหน?”  ทำไมจึงกล่าวว่า  ไม่ทราบ”
 
         กุมาริกาก็ทูลตามที่เข้าใจว่า  “เมื่อหม่อมฉันตายจากโลกนี้แล้วไม่ทราบว่า  จะไปเกิดที่ไหน”
 
          ทรงถามว่า  “แล้วเมื่อเราถามว่า  “เธอไม่ทราบหรือ?”  ทำไมจึงตอบว่า  ทราบ  ล่ะ”
 
          กุมาริกาทูลตอบว่า  “พระเจ้าข้า  หม่อมฉันทราบว่า  ตัวเองต้องตายอย่างแน่นอน  จึงตอบว่า  ทราบ  เจ้าข้า“
 
           “แล้วเมื่อตถาคตถามว่า  ”เธอย่อมทราบหรือ?”  ทำจึงตอบว่า  ไม่ทราบ”
 
           กุมาริกาก็ทูลตอบว่า  “หม่อมฉันทราบแต่เพียงว่าจะต้องตาย  แต่ไม่ทราบว่าจะตายเวลาไหน  จึงตอบเช่นนั้นพระเจ้าข้า”
 
          พระบรมศาสดาทรงชมเชยธิดาช่างหูกในความเป็นผู้มีใจจดจ่อต่อการเจริญมรณานุ สสติ  สามารถตักเตืยนตนเองได้ไม่มัวรอให้คนอื่นมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช  แล้วตรัสเตือนพุทธบริษัทว่า
 
          “พวกท่านไม่ทราบถ้อยคำที่กุมาริกานี้กล่าว  จึงกล่าวตู่ธิดาของเราผู้มีปัญญา”
 
          แล้วทรงแสดงธรรม  เรื่องมรณานุสสติอีกครั้งหนึ่ง  เมื่อสิ้นพระธรรมเทศนา  ธิดาช่างหูกก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน  เป็นผู้ไม่ตกต่ำในชีวิตอีกต่อไป
 
          แต่...  เนื่องจากวิบากกรรมเก่าตามมาทัน  เมื่อนางเดินทางกลับไปบ้านแล้ว  เห็นพ่อกำลังนอนหลับอยู่ข้างเครื่องทอหูก  นางจึงได้ปลุกพ่อให้ตื่น  ฝ่ายพ่อกำลังนอนหลับเพลิน  มือจึงไปกระทบด้ามฟืมเครื่องทอผ้าอย่างแรง  นางล้มลงกับพื้นแล้วสิ้นใจ  ณ  ตรงนั้นเอง  เมื่อละโลกแล้วก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
 
          จาก เรื่องนี้จะเห็นได้ว่า...  การรู้จักสอนตนเอง  เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากของนักสร้างบารมี  เพราะในโลกนี้  ไม่มีใครที่จะสอนตัวเราได้ดีเท่ากับตัวของเราเอง  และเมื่อเราสอนตัวเองได้ดี
แล้ว  การที่จะทำหน้าที่สั่งสอนผู้อื่นก็จะสมบรูณ์ตามมาด้วย
 

24 พฤศจิกายน 2554

การฝึกสมาธิ และ มีสมาธิที่ดี เป็นหนทุกสู่ความสำเร็จ ของทุกอย่าง !

การฝึกสมาธิ และ มีสมาธิที่ดี 

เป็นหนทุกสู่ความสำเร็จ ของทุกอย่าง !

 

          ฝึกสติ ทำสมาธิ ระดมกำลังให้มีสมาธิแก่กล้า จะได้เกิดปัญญาที่เฉียบแหลมเข้มแข็ง พร้อมเข้าสู้รบกับข้าศึก คือ อวิชชา ใครจะแพ้ชนะก็อยู่ที่กำลังของแต่ละฝ่าย หากกำลังสมาธิฝึกหัดมาดี จึงเป็นการฝึกสติฝึกปัญญาให้มีกำลัง ความกล้าแข็งเปรียบเหมือนดาบเพชร ให้ฟาดฟันอวิชชาคือความหลงออกจากจิต ทำลายอวิชชาตายลงไปด้วยอำนาจมรรคญาณ ด้วยอาวุธทันสมัยเพียงขณะเดียวเท่านั้น ความจริงทั้งหลายถูกเปิดเผยขึ้นดังประหนึ่งเอาเพชรขึ้นจากโคลนตม เอาความร้อนไล่ม่านหมอกที่ปกคลุมประกายเพชรออก รัศมีเพชรจะเปล่งประกายเป็นความจริงล้วนๆ เมื่อธรรมไม่เคยรู้ได้ปรากฏขึ้นมาในวาระสุดท้าย จิตที่เป็นประธานคือจิตดวงเดิมก็ใสสะอาดบริสุทธิ์ ไม่หลงยึดถืออุปทานต่างๆ อีกต่อไป นี่แหละคือจุดหมายปลายทางของศาสนาพุทธ ก็คือ ถึงแล้วซึ้งพระนิพพานของศาสนาพุทธ 

 

ที่มา : หนังสือสัจธรรมชีวิต

23 พฤศจิกายน 2554

การปฏิบัติตนเป็นผู้สอนธรรมะที่ดี

 

การปฏิบัติตนเป็นผู้สอนธรรมะที่ดี

 

         มนุษย์คนเราเกิดมาทั้งที มีความตั้งใจที่จะสร้างความดี เมื่อเกิดมาบนโลกมนุษย์แล้ว ความคิดมักจะเปลี่ยนแปลงไป คนดีมีเมตตามีไม่มาก เมื่อตนเองได้ดีมีวาสนา มักจะลืมคุณค่าของตัวตน ดิ้นรนเพื่อให้ตนเองอยู่ได้โดยไม่มองและนึกถึงเหตุผล นำพาชีวิตสร้างความเป็นใหญ่ ลืมตัวตนว่า คนเราเกิดมาเพื่อสร้างความดีและมีเมตตา เป็นความเมตตาแบบมีประสิทธิภาพ เมตตาด้วย จิตที่บริสุทธิ์ จึงเป็นตัวอย่างของผู้คิดจะทำความดี และ มีความดีได้ชัดเจน โดยควรจะรู้ตนเองว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะเรียกว่า ดีด้วยจิต หมายถึงความดีที่เป็นนิสัยพฤติกรรมที่แท้จริง(ธาตุแท้)

          มนุษย์ทุกคนพระพุทธเจ้าให้ธาตุ ฟ้าดินให้สังขาร ลงมาเกิดเพื่อดำเนินจิต ด้วยการใช้ชีวิตที่เหมาะสมในการเป็นคนดี และ มีความเมตตาในการสั่งสอน


         บุคคลที่กำลังสร้างความดีในเมื่อเลือกที่จะ “ปฏิบัติตนเป็นผู้นำทางในการสั่งสอนเรื่อง ความดี” ก็จงมีความเมตตาเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้มนุษย์และบุคคลทั้งหลายได้แสดงเจตนาถึงความรู้สึกนั้น สิ่งใดที่ถูกต้อง ถูกทำนองคลองธรรม ก็ควรจะชื่นชมด้วยความยินดี สิ่งใดที่ขัดต่อการปฏิบัติในการเป็นคนดีมีความเมตตา ก็จงสั่งสอนชี้ทางในการสร้างความดี ให้ชัดเจนและเข้าใจว่าต้องปฏิบัติตนอย่างไร


        มนุษย์ผู้ใดปฏิบัติและมองเห็นสิ่งใดๆได้อย่างชัดเจน โดยสามารถมองย้อนไปในอดีตจนไปถึงอนาคต ล่วงรู้เหตุการณ์ทุกอย่างได้ล่วงหน้า


         น่าจะเป็นบุคคลที่ชี้ทางแก่มนุษย์ทั้งหลายให้มีความเจริญเกิดขึ้น มนุษย์ลักษณะอย่างนี้น่าจะเป็นผู้สร้างความดีได้ในแบบถาวร พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เกิดมาแล้วสร้างความยิ่งใหญ่แก่ตนเองในทางลบ ความยิ่งใหญ่ในทางที่ถูกต้องคือ การให้ความเมตตาในการชี้ทาง ในการสั่งสอน แก่มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่รู้หรือไม่เคยรู้ธรรม โดยผู้ที่จะสร้างความดีในการเป็นผู้สอนนั้น จะต้องไม่ยึดติดกับคำว่า ความยิ่งใหญ่ เหนือกว่าใคร หรือ ดีกว่าใคร


         ผู้ที่จะสร้างความดีด้วยบุญกุศลดังกล่าวนี้ ต้องสามารถยอมรับและให้โอกาสบุคคลทั้งหลายได้โดยไม่มีการแบ่งแยกระดับชั้น วรรณะ ตลอดไปจนถึงแม้กระทั่งสรรพสิ่งวิญญาณทั้งหลายในทุกระดับจิต โดยเป็นผู้สอนหรือผู้ชี้ทางที่ดี ที่ไม่มีคำว่าปฏิเสธ เลย สามารถให้โอกาสผู้ที่ต้องการจะได้รับการสั่งสอนเสมอ ผู้สอนธรรมะที่ดีที่แท้จริงแล้ว ก็ต้องการให้คำสอนของตนแก่ผู้อื่นได้นำไปปฏิบัติในทางที่ดีและสร้างกุศลด้วย จิตที่บริสุทธิ์ และในขณะเดียวกันผู้สอนก็ต้องมีจิตที่บริสุทธิ์เช่นเดียวกัน ผู้สอนควรมีการตรวจสอบตัวตนอยู่เสมอว่า ได้สร้างความดีด้วยจิตที่บริสุทธิ์และเพียบพร้อมแล้วหรือยัง หรือเป็นแค่การสร้างภาพลักษณ์ภายนอกให้ดูดี แต่ในความเป็นจริงยังขาดคุณธรรมในจิต ยังขาดความเมตตาหรือการให้โอกาส ฉะนั้นฟ้าดินก็ไม่ถือว่าเป็นการสร้างความดี(การสร้างความดีในแบบผู้สอนธรรมะ ที่ดีคือการมีเมตตา การให้โอกาส และการให้อภัย)


         มนุษย์ผู้ใดที่จะสร้างความดี แต่ขาดความมีเมตตา ขาดพรหมวิหาร มนุษย์ผู้นั้นก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บรรลุในความดี อันเป็นการเข้าสู่ภูมิธรรมขั้นพระอรหันต์ ผู้ที่มีภูมิธรรมขั้นพระอรหันต์หรือนิพพานขั้นต้นนั้น ต้องฝึกจิตและเป็นจิตที่ดีด้วยนิสัยพื้นฐาน หรือความดีที่แท้จริง ความดีที่มีพรหมวิหาร มีการให้ด้วยความเมตตาปราศจากสิ่งแอบแฝง ยึดมั่นในความถูกต้อง มีการให้อภัย มองมนุษย์ทั้งหลายที่ใฝ่หาความดีด้วยความเวทนาและเมตตาเป็นที่ตั้งเสมอ

 

 

ที่มา  :  http://www.dhammadelivery.com 

21 พฤศจิกายน 2554

เครื่องกั้นจิตปิดกั้นใจ

 
เครื่องกั้นจิตปิดกั้นใจ
 
 
        “จิต”  ของมนุษย์นั้นเดิมทีมีความใสสว่าง  สะอาดบริสุทธิ์  หรือที่เรียกว่า “จิตประภัสสร”  แต่เพราะถูกอาคันตุกะกิเลส(กิเลสที่จรมา)  รบกวน  จึงสูญเสียความใสกระจ่างไป  นำมาซึ่งความเศร้าหมองไม่ผ่องใส  อาคันตุกะกิเลสที่กล่าวถึงนี้  เรียกว่า “นิวรณ์”  หมายถึง  เครื่องกั้นจิต  ซึ่งจัดเป็นกิเลสชั้นกลางเป็นอุปสรรคต่อการทำสมาธิ(Meditation)  ทำให้จิตมัวหมองไม่ผ่องใส  ใจไม่หยุดนิ่ง  ดิ่งเข้าสู่ภายในไม่ได้

นิวรณ์  ที่กล่างถึงนี้มีอยู่ ๕ อย่างด้วยกัน  คือ
๑.   กามฉันทะ (ความรักความพอใจในกาม)
๒.   พยาบาท (ความปองร้าย  ความอาฆาต)
๓.   ถีนมิทธะ (ความท้อแท้ และความง่วงซึม)
๔.   อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ)
๕.   วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
 
          นิวรณ์ทั้ง ๕ ชนิดนี้เป็นตัวกิเลสที่ทำลายความเจริญก้าวหน้า  และขัดขวางการปฏิบัติธรรม  ซึ่งพระพุทธองค์ทรงอุปมาเปรียบเทียบไว้ดังนี้
 
 
          “ดูก่อนพราหมณ์  ภาชนะใส่น้ำซึ่งผสมด้วยสีครั่ง  สีเหลือง  สีเขียว  สีแดง  คนตาดี  เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำที่ผสมด้วยสีนั้นๆ  ย่อมไม่เห็นตามความจริง  ฉันใด  ผู้มีจิตประกอบด้วยราคะ  ย่อมไม่รู้ไม่เห็นอุบายอันเป็นเครื่องสลัดออก  ซึ่งราคะที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง  ฉันนั้น

         ดูก่อนพราหมณ์  ภาชนะที่ใส่น้ำร้อนที่เดือดพล่านมีไอพุ่งขึ้น  คนตาดี  เมื่อมองเงาหน้าของตนในน้ำนั้น  ย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง  ฉันใด  ผู้มีจิตประกอบด้วยพยาบาท (คิดปองร้ายเขา)  ย่อมไม่รู้ไม่เห็นอุบายอันเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง  ฉันนั้น

         ดูก่อนพราหมณ์  ภาชนะที่ใส่น้ำซึ่งมีสาหร่ายและจอกแหนปกคลุมอยู่  คนตาดี  เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น  ย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง  ฉันใด  ผู้มีจิตประกอบด้วย ถีนมิทธะ (ความหดหู่ซึมเซา)  ย่อมไม่รู้ไม่เห็นอุบายเครื่องสลัดออกซึ่งถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง  ฉันนั้น
 
          ดูก่อนพราหมณ์  ภาชนะใส่น้ำที่ถูกลมพัดกระเพื่อมคนตาดีเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น  ย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง  ฉันใด  ผู้มีจิตประกอบด้วย อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ)  ย่อมไม่รู้ไม่เห็นอุบายเครื่องสลัดออก  ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฉันนั้น
 
          ดูก่อนพราหมณ์  ภาชนะใส่น้ำซึ่งขุ่นมัวเป็นตม  คนตาดีเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น  ย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง  ฉันใด  ผู้มีจิตประกอบด้วยวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)  ย่อมไม่รู้ไม่เห็นอุบายเครื่องสลัดออกซึ่งวิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วตามความ เป็นจริง ฉันนั้น”
 
          จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า  คนที่ถูกนิวรณ์ครอบงำ  ใจจะถูกปิดกั้น  ทำให้มองไม่เห็นปัญหา  ค้นหาทางออกไม่เจอสะปะตามประสา “คนตามืด จิตมืดมน”  แต่ถ้าอยากหลุดพ้นจากนิวรณ์ก็ต้องตั้งใจปฏิบัติธรรม  ปล่อยวางทุกอย่างวางทุกสิ่งทำใจให้นิ่ง  ทำจิตให้สงบ  แล้วท่ามกลางความสงบก็จะพบทางออกเอง

20 พฤศจิกายน 2554

พระพุทธศาสนากับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

 

 พระพุทธศาสนากับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ 

 


           ถึง แม้อัลเบิร์ต ไอสไตล์ ได้จากโลกนี้ไปโดยที่เขายังไม่สามารถค้นพบตำตอบตามที่เขากำลังต้องการก็ตาม แต่ไอสไตล์ได้ทิ้งคำพูดที่เป็นปริศนาที่สำคัญมากให้กับมนุษยชาติ ในช่วงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเขา อัลเบิร์ตได้เริ่มสงสัยแล้วว่า พระพุทธศาสนา อาจจะเป็นศาสนาที่ให้คำตอบต่อคำถามที่เขากำลังพยายามค้นหา ในช่วง 1 ปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิตนั้น มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ได้ตีพิมพ์งานเขียนชิ้นหนึ่งของเขาชื่อเรื่อง " The Human Side " ซึ่งนักฟิสิกส์ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลผู้นี้ ได้กล่าวทิ้งท้ายให้เป็นปริศนาแห่งโลกอนาคตว่า

        The religion of the future will be a cosmic religion. It should transcend personal God and avoid dogma and theology. Covering both the natural and the spiritual, it should be based on a religious sense arising from the experience of all things natural and spiritual as a meaningful unity. Buddhism answers this description. If there is any religion that could cope with modern scientific needs it would be Buddhism. (Albert Einstein)

       "ศาสนาในอนาคต จะต้องเป็นศาสนาสากล ศาสนานั้นควรอยู่เหนือพระเจ้าที่มีตัวตน และควรจะเว้นคำสอนแบบสิทธันต์ (คือเป็นแบบสำเร็จรูปที่ให้เชื่อตามเพียงอย่างเดียว) และแบบเทววิทยา(คือพึ่งเทวดาเป็นหลักใหญ่) ศาสนานั้น เมื่อครอบคลุมทั้งธรรมชาติและจิตใจ จึงควรมีรากฐานอยู่บนสามัญสำนึกทางศาสนา ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ต่อสิ่งทั้งปวง คือ ทั้งธรรมชาติและจิตใจอย่างเป็นหน่วยรวมที่มีความหมาย พระพุทธศาสนาตอบข้อกำหนดนี้ได้....ถ้าจะมีศาสนาใดที่รับมือได้กับความต้อง การทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ปัจจุบัน ศาสนานั้นก็ควรเป็นพระพุทธศาสนา"
 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
นักฟิสิกส์ ชาวเยอรมัน ผู้เสนอทฤษฏีสัมพันธภาพ

       คำพูดของไอสไตล์นั้นมีความนัยที่สำคัญซ่อนอยู่และรอคอยการค้นพบ และทฤษฎีเอกภาพหรือทฤษฎีสรรพสิ่งที่ต้องการค้นหานั้น ที่จริงพระพุทธเจ้าได้ตอบให้เบ็ดเสร็จก่อนหน้านั้น 2500 ปี

18 พฤศจิกายน 2554

ศีลและอานิสงส์ของศีล

 

ศีลและอานิสงส์ของศีล

 

 

ศีล แปลว่า ปกติของสิ่งต่างๆ อันเป็นสภาวธรรมที่มีที่เป็นกับสิ่งนั้น ๆ เช่น ดวงอาทิตย์เป็นดวงไฟที่ร้อนและให้แสงสว่าง ความร้อนและความสว่างถือว่าเป็นสภาวะปกติของดวงอาทิตย์ถ้าดวงอาทิตย์ยังร้อน ยังให้แสงสว่างอยู่ ก็กล่าวได้ว่าดวงอาทิตย์ยังมีปกติยังรักษาปกติของตนไว้ได้ หากเมื่อใดดวงอาทิตย์เกิดไม่ร้อนหรือไม่ให้แสงสว่างขึ้นมา เราก็เรียกว่าดวงอาทิตย์ผิดปกติหรือเสียปกติไป

 


อานิสงส์ของศีล


      1.โภคสมฺปทํ เป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สมบัติ สามารถบริโภคใช้สอยทรัพย์ที่เกิดมีแก่ตนได้เต็มอิ่มโดยไม่ต้องหวาดระแวงอะไร   

      2.กลฺยาณกิตฺตึ เป็นเหตุให้มีชื่อเสียงดี มีเกียรติคุณฟุ้งขจรไปว่าเป็นคนไว้ใจได้ ทำให้มีอนาคตดีเพราะได้รับความไว้วางใจในความประพฤติ

      3.สมุหวิสารหํ เป็นเหตุเป็นคนแกล้วกล้า อาจหาญ สง่าผ่าเผย ในเวลาเข้าสังคม

      4.อสมฺมุฬฺหํ เป็นเหตุให้เป็นคนไม่หลงลืมสติ ไม่หลงเพ้อดิ้นรนเวลาใกล้ตาย

      5.สุคติปรายนํ เป็นเหตุให้เข้าถึงสุคติภูมิ เมื่อตายไปแล้ว    

16 พฤศจิกายน 2554

ชมรมพุทธ จุฬา ช่วยภัยน้ำท่วม

      ในภาวะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปีนี้  ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนจำนวนมาก  ชาวชมรมพุทธ จุฬาฯ ก็เห็นถึงความเดือดร้อนนี้  จึงพร้อมใจกันไปช่วยพับถุงทราย กรอกกระสอบทราย  ขนกระสอบทราย และสร้างทำนบกั้นน้ำ บริเวณคลองรพีพัฒน์  คลองสามและมอเตอร์เวย์  ซึ่งเป็นเพียงส่วนนี้ที่ได้ช่วยกันป้องกันอุทกภัยในครั้งนี้  ต่อสู้กับน้ำจำนวนมากอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเป็นเวลาหลายวัน  จนสถานะการณ์ดีขึ้น








มองหาอะไรในชีวิตมหา'ลัย

มองหาอะไรในชีวิตมหา'ลัย



หลายชีวิต .. ต้องจบลงก่อนที่จะรู้ว่า ตัวเองนั้น "เกิดมาทำไม"  ความสามัญของคำถาม ดูเหมือนจะตอบได้ไม่ยากจากสามัญสำนึกที่ไม่ได้คิดอะไรมากนัก  จึงมีผู้ละเลยในการตอบให้กับชีวิต หรือ เพิกเฉยในการค้นหา   เพราะหาที่สุดของคำตอบนั้นไปไม่ได้...

       ดูช่างน่าเสียดายนัก ที่หลายต่อหลายคน เป็นคนฉลาดรอบรู้ สามารถตอบปัญหาเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย แต่ไม่อาจตอบปัญหาที่สำคัญที่สุดในชีวิตได้ หรือไม่เคยคิดจะตอบมันอย่างจริงจัง
 
         เมื่อเขายังไม่รู้เลยว่า...ตัวเองเกิดมาทำไม...?..   มีหน้าที่เกิดมาทำอะไรกันแน่? ใยเล่า? จะสามารถดำเนินและสรรหาเส้นทางชีวิตที่ถูกต้องได้

 เขาเหล่านั้นจึงได้แต่ดำเนินชีวิตไปวัน ๆ ตามความรู้สึกที่นิยามขึ้นมาเองว่า "มันถูกต้อง" เพราะฉะนั้น จึงมีคนดำเนินชีวิตถูกบ้าง...ผิดบ้าง

        บาง คน...ต้องเสียน้ำตา ต้องฝืนยิ้ม ต้องเล่นเกมขีวิตที่ออกจะดูสุขุม แต่แท้จริงกลับขมขื่น...บางชีวิตบ่งถึงความมั่งคั่ง แต่ขาดความมั่นคงใด ๆ ในจิตใจ เขาจึงต้องแสวงหาอย่างไร้จุดหมายต่อไป จนแล้ว...จนเล่า...และในที่สุดพวกเขาเหล่านั้นก็จบชีวิตลง โดยยังไม่พบเลยถึงเป้าหมายของการเกิดมา ว่าแท้จริง...เขาเกิดมาทำไม!!

ที่จริง!! มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อชดใช้กรรม...  ไม่ได้เกิดมาเพื่อตายแล้วเกิดใหม่  หรือเกิดมาเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งให้ถึงที่สุด แล้วสุดท้ายก็เอาอะไรไปไม่ได้

แต่แท้จริง มนุษย์เกิดมาเพื่อทำความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ให้เกิดขึ้น เกิดมาเพื่อสั่งสมความดี ตามหลักทาน ศีล ภาวนา อันเป็นเหตุที่ทำให้เราหมดทุกข์ พบความสุข และเป้าหมายอันที่สุด คือ นิพพาน หรือ ที่สุดแห่งธรรม ตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ปัจจุบัน โลกยุคโลกาภิวัฒน์ก็มิได้ทำให้ความสับสนทางจิตใจของมนุษย์ลดน้อยลงเอย กลับยิ่งทวีความเสื่อมโทรมทางด้านจิตใจให้มากขึ้นไปตามลำดับ  จึงทำให้มนุษย์แก่งแย่ง แข่งขัน และแสวงหา...  จนหลงลืมเป้าหมายของการเกิดมา ด้วยเหตุนี้  จึงทำให้มนุษย์งสับสนอยู่มาก ในเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับโลก  ชีวิตและจุดมุ่งหมายที่ชีวิตควรดำเนินไปให้ถึง

อะไรคือสิ่งที่เขาควรแสวงหา  และอะไรคือสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเสียเวลากับมัน บนโลกกว้างใบนี้ มีสิ่งต่าง ๆ ให้เราเรียนรู้มากมาย แต่น่าเสียดาย!  ...เราไม่มีชีวิตยีนยาวพอที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งได้ เราจึงควรที่จะเลือก...เลือกที่จะดำเนินชีวิต เรียนรู้ว่าแก่นสาร สาระที่แท้จริงของชีวิตคืออะไร

       สิ่งใดคือความสุขที่แท้จริงที่ทำให้ชีวิตเราเป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นผู้ดำรงอยู่ด้วยความไม่ประมาท ได้ใช้เวลาในชีวิตของเราอย่างคุ้มค่า สมกับการเกิดมาเป็นมนุษย์

ดังนั้น เราจึงควรมาเรียนวิชาที่ว่าด้วยชีวิต  ซึ่งเป็นวิชาที่สำคัญมากที่สุด มากกว่าวิทยาการใด ๆ บนโลกที่เราเรียนเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาของชีวิต และทำให้พบความสุขที่แท้จริง   ส่วนวิชาทางโลกที่เราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพียงวิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพหาเงินมาเลี้ยงร่างกายให้อยู่รอดเท่านั้น  ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อร่างกายมีชีวิตรอดแล้ว  จะทำให้ชีวิตมีความสุขเมื่อไหร่!!

ฉะนั้น  จงอย่าใช้ความมั่งคั่งมาเป็นตัววัดความสำเร็จในชีวิตอีกเลย คนโง่...มักเอาชีวิตของตนไปแขวนไว้กับ ทรัพย์ ยศ ไมตรี  แล้วสุดท้าย...คืออะไร?..กลับเอาอะไรไปไม่ได้  ซ้ำชั่วชีวิตของการแสวงหานั้น ก็คิดตลอดว่า มันคือความสุข  แต่กลับได้ความทุกข์โดยไม่ตั้งใจเสมอมา

        แต่เคยสงสัยบ้างไหมว่า...  ทำไมผู้เฒ่าผู้แก่แทบทุกคนถึงหันมาสนใจธรรมะ? หากเราลองมองย้อนกลับไป บนเส้นทางการศึกษาที่ผ่านมา มีวิชาไหนบ้างที่สอนให้เรารู้จักชีวิตและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง นอกเสียจากวิชาที่ว่าด้วยชีวิตและจิตใจ ซึ่งก็คือ "ธรรมะ"

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้...ไม่อยากให้คิดเลยว่า  ธรรมะเป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระ เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง ไม่งั้นเจ้าชายสิทธัตถะ คงไม่ยอมสละสมบัติอันมหาศาล  และความสบายทั้งหมดในชีวิตมาเพื่อสิ่งนี้ เพียงแต่เราไม่ได้ลองทำ(พิสูจน์) ด้วยตัวเอง จึงยังไม่เข้าใจ  เหมือนกับถ้าเราไปบอกมนุษย์ยุคหินว่า ... ในแม่น้ำมีเชื้อโรคอยู่มากมาย เต็มไปหมด แน่นอน ... เขาย่อมไม่เชื่อ  และอาจหาว่าเราพูดเหลวไหล จนกว่าเขาจะใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู  พิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วถึงเชื่อ และเข้าใจตามความเป็นจริง

        หรือบางคน ... อาจบอกว่า "ธรรม" ยังไม่ถึงเวลาสำหรับเขาหรือเป็นเรื่องของคนแก่ แต่เคยสงสัยบ้างไหมว่า...  ทำไมผู้เฒ่าผู้แก่แทบทุกคนถึงหันมาสนใจธรรมะ  เพราะท่านเหล่านี้ ผ่านโลก ผ่านชีวิตมา 70-80 ปี  รู้เห็นสิ่งอะไรมากมาย แสวงหาสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตมาตลอด  เสียเวลาเกือบทั้งชีวิตเพราะเขารู้ว่า การศึกษาธรรมะอย่างจริงจังไปพร้อมกับวิชาทางโลก  จะทำให้เขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแท้จริง

       ถึงเวลาแล้ว...ที่เราจะมาทำชีวิตของเราให้เต็มบริบูรณ์  มาศึกษาวิชาที่ว่าด้วยความสุขอันไพบูลย์จงอย่าให้ความเคยชินกลืนกินเวลาที่ต้องผลัดวัน...ต่อไปอีกเลย  เพราะบางทีเราอาจต้องจบชีวิตลง และไม่อาจตอบได้ว่า ชั่วชีวิตนี้...เราเกิดมาทำไม มาแสวงหาอะไรกันแน่  และความสุขอันแท้จริงของชีวิตนั้น คือ อะไร?"

คนโง่ ... ปฏิเสธธรรมะ เพราะเห็นว่า น่าเบื่อ งมงาย เชย ไร้เหตุผล ยังไม่ถึงเวลาของตน จึงดำเนินชีวิตไปตามค่านิยม จนหลงลืมเป้าหมายแห่งตน...

คนฉลาด ... สนใจธรรมะ จึงอ่าน ฟัง แต่ไม่ยอมปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงดูแปลกแยก ครึ ขรีม เคร่ง
CONSERVATIVE หนีผู้คน หลงภูมิใจในตน  แล้วกลายเป็นคนดีเฉพาะตน แต่คนอื่นไม่อยากเข้าใกล้จึงจำแนกเขาออกไป เขาจึงมีความสุขบ้าง  จากการแยกตัวออกมา

      คนมีปัญญา ... ศึกษาธรรมะอย่างถ่องแท้ ถึงแก่น  ไม่ใช่แค่อ่าน แต่ปฏิบัติอย่างจริงจังและนำมาประสานกับวิขาทางโลก และศึกษาควบคุมกันไป  จึงมีความชำนาญในการนำไปใช้  เพราะไม่เลือกที่จะให้ความสำคัญกับธรรมะ เป็นอันดับสุดท้าย

       เขาจึงเป็นคนดีก่อนใคร ที่มีแต่คนอยากเข้าใกล้ มีความหยุด สงบ  ท่ามกลางความทุกข์อันวุ่นวาย มีสุขอันล้นเหลือสำหรับตนเองและเผื่อแผ่ไปให้กับคนรอบข้าง และ เป็นผู้ที่ประสบความสุข  ความสำเร็จในชีวิตที่แท้จริงในที่สุด

ทำดีเมื่อไหร่จะได้ดี

 

ทำดีเมื่อไหร่จะได้ดี

 

 

        ถ้าเราเอาหน่อกล้วยมาปลูกวันนี้ ถามว่าจะได้กินกล้วยวันนี้ไหม ก็ตอบได้ว่ายัง ต้องรอไปโน่น..เกือบปีแน่ะ แล้วในระหว่างที่รออยู่นั้น ก็ยังต้องขยันหมั่นรดน้ำพรวนดิน ต้องดูแลป้องกันโรคอีกด้วย ไม่อย่างนั้นพอครบปี อาจจะได้กินกล้วยเหมือนกัน แต่เป็นกล้วยผลผอมๆ แกร็นๆ ไม่ได้เต็มหวีเต็มเครือ เหมือนของชาวบ้านเขา แล้วถ้าถามว่าในระหว่างนั้นไม่ได้ผลอะไรเลยหรือ ก็ตอบว่า...ได้ ได้ตั้งแต่วันปลูกนั่นแหละ พอปลูกเสร็จก็ได้รับผลดีระดับต้น คือได้ความสบายใจว่า เราได้ทำงานถูกต้องตามฤดูกาลแล้ว และในระหว่างนั้นก็ยังได้ผลตามมาอีกเป็นลำดับๆ ตั้งแต่ได้ใบตองมาห่อขนม ได้หัวปลีมาจิ้มน้ำพริกกิน แต่มันก็ยังไม่ได้กินผลกล้วยสักที ต้องรอถึงปลายปีโน่นแน่ะ

        ผลดีระดับที่ ๑ เวลาทำ ความดีก็เช่นกัน ทันทีที่ทำเสร็จ ไม่ว่าจะมีใครเห็นหรือไม่ก็ตาม เราก็ได้รับผลดีในขั้นต้นทันที คือได้รับความสบายใจว่าเราได้ทำความดีแล้ว ผลดีระดับที่ ๒ เมื่อเราทำความดีซ้ำแล้วซ้ำอีกติดต่อกัน

        ผลดีในระดับที่ ๒
 ก็จะตามมา คือบุคลิกจะดีขึ้น อุปมาเหมือนกับได้ใบตอง มาห่อของห่อขนมนะ

        ผลดีระดับที่ ๓
 ครั้น ทำซ้ำอีกต่อไปเป็นแรมเดือนแรมปี ผลแห่งความดีในระดับที่ ๓ จึงจะออก คือไม่ว่าจะหยิบจะทำอะไร ก็รู้สึกว่าจะมีโชค มีลาภ หรือคล่องตัวขึ้น ทำงานการสำเร็จทุกอย่าง อุปนิสัยใจคอก็ดีขึ้นจนผิดสังเกต อุปมาเหมือนได้หัวปลีมากินอย่างนั้นแหละ

        ผลดีระดับที่ ๔ ถ้า ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่ยอมหยุดยั้ง ผลแห่งความดีที่ตามมา คือเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปในสังคม เราปลูกกล้วย กว่าจะได้กินผลของมัน ยังต้องรอเป็นปี การทำความดีกว่าจะเห็นผลจนสังคมยอมรับ ก็เป็นธรรมดาต้องอาศัยเวลาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าใจร้อนคนส่วนมากเวลาทำความดีมักเข้าข้างตัวเอง อยากให้ความดีส่งผลเร็วทันใจ ส่วนความชั่วที่เคยทำมาแล้วเท่าไรๆ กลับนึกบนบานศาลกล่าวว่า อย่าให้มันตามมาทันเลย แต่เวลาคนอื่นทำความชั่ว โดยเฉพาะถ้าเดือดร้อนมาถึงตนด้วย จะนึกอยากให้ผลแห่งความชั่วนั้นตามมาถึงเขาเร็วๆ ลืมนึกถึงความดีที่เขาเคยทำไว้ จนกระทั่งคนดีเกิดสงสัยว่าทำดีได้ดีจริงหรือ

        ในบรรดาคนใจร้อนทั้งหลาย ที่อยากให้กรรมส่งผลทันตาเห็นนั้น จริงๆ แล้วเขาคิดแต่เฉพาะที่จะได้ผลประโยชน์ คือ ถ้าสมมุติว่าเขาให้ทานปุ๊บก็รวยปั๊บทันทีเขาถูกใจ ตรงข้ามถ้าเขาโกหกปุ๊บ ฟันหักหมดปากปั๊บ เขากลับนึกว่าไม่ยุติธรรม คนเรามักเป็นเสียอย่างนี้ คือเข้าข้างตัวเอง และเพราะใจร้อนถึงได้เกิดสงสัยกฎแห่งกรรมอยู่ร่ำไป เพราะฉะนั้น นับแต่วันนี้เป็นต้นไปขอให้เลิกใจร้อน อย่า เข้าข้างตัวเอง รู้จักทำใจให้เป็นกลางๆ ให้ความยุติธรรมแก่สิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว แต่การจะทำอย่างนี้ได้ต้องอาศัยการนั่งสมาธิมากๆ เท่านั้น

 

(10/10/2554) ตักบาตร ณ ลานบุญเพื่องฟ้า สองพี่น้อง สุพรรณบุรี

     

      เนื่องในวันครบรอบ 127 ปี พระมงคลเทพมุนี วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2554 ชาวชมรมพุทธจุฬาฯ  หน้าใส ใจบุญ ได้เดินทางไปเข้าร่วมพิธีตักบาตรพระ 12,700 รูป ณ ลานบุญเพื่องฟ้า สองพี่น้อง สุพรรณบุรี    แม้ว่าจะเกิดอุปสรรคมากมาย  ไม่ว่าจะน้ำท่วม  ฝนตก หรือรถติด ก็ยังพยายามเดินทางไปให้ได้  เมื่อเดินทางมาถึง  มีสาธุชนจำนวนมากมาใส่บาตร  ทั้งๆที่กำลังร่วมพิธีอยู่นั้นฝนจะตก  แต่ทุกคนก็ไม่หนีไปเข้าร่มและทำบุญด้วยใจที่ผ่องใส 









อนุโมทนาบุญด้วยครับ





15 พฤศจิกายน 2554

คำอาราธนาศีล 5

คำอาราธนาศีล 5



1. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการ ฆ่า

2. อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการ ถือเอาสิ่งของที่ไม่ได้ให้แล้ว

3. กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการ ประพฤติผิดในกาม

4. มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการ พูดไม่จริง

5. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการ ดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

คำกล่าวแสดงตนเป็นพุทธมามกะ



คำกล่าวแสดงตนเป็นพุทธมามกะ


 (หันทะมะยัง  พุทธัสสะ  ภะคะวะโต  ปุพพะภา  คะนะมะการัง  กะโรมะเสฯ)

     นะโมตัสสะ  ภะคะวะโต,  อะระหะโต,  สัมมาสัมพุทธัสสะ,
     นะโมตัสสะ  ภะคะวะโต,  อะระหะโต,  สัมมาสัมพุทธัสสะ,
     นะโมตัสสะ  ภะคะวะโต,  อะระหะโต,  สัมมาสัมพุทธัสสะ,  
        
       ขอนอบน้อม,  แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า,  พระองค์นั้น,  ซึ่งเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส,  ตรัสรู้ชอบได้,  โดยพระองค์เองฯ
        
         เอสาหัง  ภันเต,  สุจิระปะรินิพพุตัมปิ,  ตัง  ภะคะวันตัง,  สะระณัง  คัจฉามะ, ธัมมัญจะ  สังฆัญจะ,  พุทธมามะกาติโน,  สังโฆ    ธาเรตุฯ 

        ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ,  ข้าพเจ้าทั้งหลาย,  ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น, แม้เสด็จปรินิพพานไปนานแล้ว,  กับทั้งพระธรรม,  และพระสงฆ์,  ว่าเป็นที่พึ่ง,  ที่ระลึกอันสูงสุด,  ขอพระสงฆ์,  โปรดจำข้าพเจ้าทั้งหลายไว้ว่า,  เป็นพุทธมามะกะ,  ผู้ถึงพระรัตนตรัย,  เป็นสรณะตลอดชีวิต, 

         ตั้งแต่บัดนี้,  ข้าพเจ้าทั้งหลาย,  จะปฏิบัติตน, มีศรัทธาในพระรัตนตรัย,  ตั้งใจรักษาศีล,  ไม่เชื่อถือมงคลตื่นข่าว,  ไม่แสวงบุญนอกพระพุทธศาสนา, หมั่นสร้างบุญกุศล, ในพระพุทธศาสนา,  ตลอดกาลนานเทอญฯ 

บทสวด ธัมมจักกัปปวัตนสูตร (พร้อมคำแปล)



บทสวด ธัมมจักกัปปวัตนสูตร 

(พร้อมคำแปล) 




เอวัมเม สุตัง
( ข้าพเจ้า ( คือพระอานนท์เถระ ) ได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ )
เอกัง สะมะยัง ภะคะวา
( สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า )
พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเย ฯ
( เสด็จประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี )
 
ตัตระ โข ภะคะวา ปัญจะวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิ ฯ
( ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนพระปัญญจวัคคีย์อย่างนี้ว่า )
 
เทฺวเม ภิกขะเว อันตา ( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ เหล่าอย่างนี้ )
ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา ( อันบรรพชิตไม่ควรเสพ )
 
โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค
( คือการประกอบตนให้พัวพันด้วยกาม ในกามทั้งหลายนี้ใด )
โน ( เป็นธรรมอันเลว ) คัมโม ( เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน ) โปถุชชะนิโก ( เป็นของคนผู้มีกิเลสหนา )
อะนะริโย ( ไม่ใช่ของคนไปจากข้าศึกคือกิเลส ) อะนัตถะสัญหิโต ( ไม่ประกอบไปด้วยประโยชน์ )
 
โย จายัง อัตตะกิละมะถานุโยโค  ( คือประกอบความเหน็ดเหนื่อยด้วยตน
เหล่านี้ใด )
ทุกโข ( ให้เกิดทุกข์แก่ผู้ประกอบ )
อะนะริโย ( ไม่ใช่ไปจากข้าศึกคือกิเลส )
อะนัตถะสัญหิโต ( ไม่ประกอบไปด้วยประโยชน์ อย่างหนึ่ง )
 
เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนะปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั่นนั้น )
ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา ( อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง )
จักขุกะระณี ญาณะกะระณี ( ทำดวงตา ทำญาณเครื่องรู้ )
อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
( ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าไปสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อ ความดับ )
 
กะตะมา จะ สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางนั้นเป็นไฉน )
ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา ( ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง )
จักขุกะระณี ญาณะกะระณี ( กระทำดวงตา ทำญาณเครื่องรู้)
อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
( ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าไปสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ )
 
อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค
( ทางมีองค์ ๘ เครื่องไปจากข้าศึก คือกิเลสนี้เอง )
เสยยะถีทัง ( ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ )
สัมมาทิฏฐิ ( ปัญญาอันเห็นชอบ )
สัมมาสังกัปโป ( ความดำริชอบ )
สัมมาวาจา ( วาจาชอบ )
สัมมากัมมันโต ( การงานชอบ )
สัมมาอาชีโว (เลี้ยงชีวิตชอบ )
สัมมาวายาโม ( ความเพียรชอบ )
สัมมาสะติ ( การระลึกชอบ )
สัมมาสะมาธิ ( ความตั้งจิตชอบ )
 
อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา ( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้แลข้อ ปฏิบัติที่เป็นกลางนั้น )
ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา (ที่ตถาคต ได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง )
จักขุกะระณี ญาณะกะระณี ( กระทำดวงตา คือ กระทำญาณเครื่องรู้ )
อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
(ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ )
 
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อะริยะสัจจัง
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็นี้แลเป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริง คือ )
ชาติปิ ทุกขา ( แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ )
ชะราปิ ทุกขา ( แม้ความแก่ ก็เป็นทุกข์ )
มะระณัมปิ ทุกขัง ( แม้ความตาย ก็เป็นทุกข์ )
โสกะปริเทวะทุกขะโทมะนัสสุกปายาสาปิ ทุกขา
( แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ )
อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข ( ความประสบพบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์ )
ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข ( ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์ )
ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง
( มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ )
สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ฯ
( ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ )
 
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อนี้แลเป็นเหตุให้ทุกข์อย่างแท้จริง คือ )
ยายัง ตัณหา ( ความทะยานอยากนี้ใด )
โปโนพภะวิกา ( ทำให้มีภพอีก )
นันทิราคะสะหะคะตา ( เป็นไปกับความกำหนัด ด้วยอนาจความเพลิดเพลิน )
ตัตระ ตัตราภินันทินี ( เพลินยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ )
เสยยะถีทัง ( ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ )
กามะตัณหา ( ความทะยานอยากในอารมณ์ที่ใคร่ )
ภะวะตัณหา ( ความทะยานอยากในความมีความเป็น )
วิภะวะตัณหา ( ความทะยานอยากในความไม่มี ไม่เป็น )
 
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อนี้แลเป็นความดับทุกข์ )
โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ
( ความดับโดยสิ้นกำหนัด โดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นนั่นแหละใด )
จาโค ( ความสละตัณหานั้น ) ปะฏินิสสัคโค ( ความวางตัณหานั้น )
มุตติ ( การปล่อยตัณหานั้น ) อะนาละโย ( ความไม่พัวพันแห่งตัณหานั้น )
 
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จ้ริง คือ )
อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค ( ทางมีองค์ ๘ เครื่องไปจากข้าศึก คือกิเลส นี้เอง )
เสยยะถีทัง ( ได้แก่ สิ่งเหล่านี้ คือ )
สัมมาทิฏฐิ ( ปัญญาอันเห็นชอบ ) สัมมาสังกัปโป ( ความดำริชอบ )
สัมมาวาจา ( วาจาชอบ ) สัมมากัมมันโต ( การงานชอบ )
สัมมาอาชีโว ( ความเลี้ยงชีวิตชอบ ) สัมมาวายาโม ( ความเพียรชอบ )
สัมมาสะติ ( ความระลึกชอบ ) สัมมาสะมาธิ ( ความตั้งจิตชอบ )
 
อิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว
ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ
จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
( ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว
ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิทยาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้ว ในกาลก่อนว่า นี่เป็นทุกข์อริยสัจ )
 
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ เม ภิกขะเว
ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ
จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
( ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว
ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิทยาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ก็ทุกข์อริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้ )
 
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญาตันติ เม ภิกขะเว
ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ
จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
( ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว
ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิทยาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ก็ทุกข์อริยสัจนี้นั้นแล  เราได้กำหนดรู้แล้ว )
 
อิทัง ทุกขะสุมุทะโย อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว
ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ
จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
( ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว
ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิทยาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ทุกข์สมุทัยอริยสัจ )
 
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพันติ เม ภิกขะเว
ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ
จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
( ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว
ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิทยาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ทุกข์สมุทัยอริยสัจนี้แล
ควรละเสีย )
 
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะนันติ เม ภิกขะเว 
ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ
จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
( ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว
ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิทยาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ทุกข์สมุทัยอริยสัจนี้แล เราละได้แล้ว )
 
อิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว
ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ
จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
( ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว
ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิทยาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ทุกขนิโรจอริยสัจ )
 
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกาตัพพันติ เม ภิกขะเว
ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ
จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
( ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว
ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิทยาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ทุกขนิโรจอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง )
 
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกะตันติ เม ภิกขะเว
ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ
จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
( ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว
ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิทยาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ทุกขนิโรจอริยสัจนี้นั้นแล อันเราได้ทำให้แจ้งแล้ว )
 
อิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว
ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ
จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
( ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว
ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิทยาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า  นี่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ )
 
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาเวตัพพันติ เม ภิกขะเว
ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ
จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
( ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว
ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิทยาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า  ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นแล ควรให้เจริญ )
 
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาวิตันติ เม ภิกขะเว
ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ
จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ
( ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว
ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิทยาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า  ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นแล อันเราเจริญแล้ว )
 
ยาวะกีวัญจะ เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ
เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง นะ สุวิสุทธัง อะโหสิ ฯ
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้ตามความเป็นจริงอย่างไร ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา
ซึ่งมีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดเพียงใดแล้ว )
 
เนวะ ตาวาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก
สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ
อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง ฯ
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะยืนยันตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะปัญญาเครื่องตรัสรู้ชอบ
ไม่มีความตรัสรู้อื่นจะยิ่งกว่าในโลก เป็นไปพร้อมด้วยกับเทวดา มาร พรหม ในหมู่สัตว์
ทั้งในสมณพราหมณ์ เทวดา มนุษย์ ไม่ได้เพียงนั้น )
 
ยะโต จะ โข เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ
เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง สุวิสุทธัง อะโหสิ ฯ
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล ปัญญาอันเห็นตามเป็นจริงอย่างไรในอริยสัจ๔ เหล่านี้ของเรา
มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว )
 
อะถาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก
สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ
อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง ฯ
( ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงได้ยืนยันตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งปัญญา
เครื่องตรัสรู้ชอบ
ไม่มีความตรัสรู้อื่นจะยิ่งกว่าในโลก เป็นไปกับด้วยกับเทวดา มาร พรหม ในหมู่สัตว์
ทั้งในสมณพราหมณ์ เทพยดา มนุษย์ )
 
ญาณัญจะ ปะนะ เม ทัสสะนัง อุทะปาทิ
( ก็แล ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว )
อะกุปปา เม วิมุตติ อะยะมันติมา ชาติ นัตถิทานิ ปุนัพภะโวติ ฯ
( ว่า การพ้นพิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก )
 
อิทะมะโวจะ ภะคะวา ฯ
( พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสธรรมปริยายนี้แล้ว )
 
อัตตะมะนา ปัญจะวัคคิยา ภิกขู ภะคะวะโต ภาสิตัง อะภินันทุง ฯ
( พระภิกษุปัจจวัคคีย์ก็มีใจยินดีเพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า )
 
อิมัสมิญจะ ปะนะ เวยยากะระณัสมิง ภัญญะมาเน
( ก็แล เมื่อไวยากรณ์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอยู่ )
 
อายัสมะโต โกณทัญญัสสะ วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง อุทะปาทิ
( จักษุในธรรม อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่พระผู้มีอายุโกณทัญญะ )
"ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ ฯ"
( ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้ว สิ่งนั้นทั้งปวง ก็ต้องดับสลายไปเป็นธรรมดา" )
 
ปะวัตติเต จะ ภะคะวะตา ธัมมะจักเก
( ก็เมื่อธรรมจักรอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้เป็นไปแล้ว )
 
ภุมมา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง
( เหล่าภูมิเทวดา ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นว่า )
 
เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย
อะนุตตรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา
พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรัหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสมินติ ฯ
( ว่า นั่นจักรคือธรรม ไม่มีจักรอื่นสู้ได้
อันพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี
อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม และใคร ๆ ในโลกยังให้เป็นไปไม่ได้ ดังนี้ )
 
ภุมมานัง เทวานัง สัททัง สุตวา จาตุมมะหาราชิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
(เทพเจ้าเหล่าชั้นจาตุมหาราช ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าภูมิเทวดาแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น )
 
จาตุมมะหาราชิกานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ตาวะติงสา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
( เทพเจ้าเหล่าชั้นดาวดึงส์ ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น )
 
ตาวะติงสานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ยามา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
( เทพเจ้าเหล่าชั้นยามา ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น )
 
ยามานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ตุสิตา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
( เทพเจ้าเหล่าชั้นดุสิต ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นยามาแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น )
 
ตุสิตานัง เทวานัง สัททัง สุตวา นิมมานะระตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
( เทพเจ้าเหล่าชั้นนิมมานรดี ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นดุสิตแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น )
 
นิมมานะระตีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา ปะระนิมมิตะวะสะวัตตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ
( เทพเจ้าเหล่าชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นนิมมานรดีแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น )
 
ปะระนิมมิตะวะสะวัตตีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา พรัหมะกายิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง
( พรหมเจ้าที่เกิดในชั้นพรหม ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่นขึ้นว่า )
 
"เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย
อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา
พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรัหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสมินติ ฯ"
( "นั่นจักรคือธรรม ไม่มีจักรอื่นสู้ได้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี
อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม และใคร ๆ ในโลก ไม่สามารถให้เป็นไปได้ดังนี้ ฯ" )
 
อิติหะ เตนะ ขะเณนะ เตนะ มุหุตเตนะ ยาวะ พรัหมะโลกา สัทโท อัพภุคคัจฉิ ฯ
( โดยขณะหนึ่งครู่หนึ่งนั้น เสียงขึ้นไปถึงพรหมโลกด้วยประการฉะนี้ ฯ )
 
อะยัญจะ ทะสะสะหัสสี โลกะธาตุ สังกัมปิ สัมปะกัมปิ สัมปะเวธิ ฯ
( ทั้งหมื่นโลกธาตุ ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้านลั่นไป )
 
อัปปะมาโณ จะ โอฬาโร โอภาโส โลเก ปาตุระโหสิ
( ทั้งแสงสว่างอันใหญ่ยิ่งไม่มีประมาณ ได้ปรากฏแล้วในโลก )
อะติกกัมเมวะ เทวานัง เทวานุภาวัง ฯ
( ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลายเสียหมด ฯ )
 
อะถะ โข ภะคะวา อุทานัง อุทาเนสิ
( ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า )
อัญญาสิ วะตะ โภ โกณทัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณทัญโญติ
( โกณทัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญ )
 
อิติหิทัง อายัสมะโต โกณทัญญัสสะ "อัญญาโกณทัญโญ" เตววะ นามัง อะโหสีติ ฯ
( เพราะเหตุนั้น นามว่า "อัญญาโกณทัญญะ" นี้นั่นเทียว
ได้มีแล้วแก่พระโกณทัญญะผู้มีอายุ ด้วยประการฉะนี้ แล ฯ )

บทสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย




บทสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย



พระพุทธคุณ
(นำ) องค์ใดพระสัมพุทธ(รับพร้อมกัน) สุวิสุทธสันดาน
ตัดมูลเกลสมารบ มิหม่นมิหมองมัว
 หนึ่งในพระทัยท่าน
ก็เบิกบาน คือดอกบัว
ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร
องค์ใดประกอบด้วยพระกรุณาดังสาคร
โปรดหมู่ประชากรมละโอฆกันดาร
ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมศานต์
ชี้ทางพระนฤพานอันพ้นโศกวิโยคภัย
พร้อมเบญจพิธจัก- ษุ จรัสวิมลใส
เห็นเหตุที่ใกล้ไกล ก็เจนจบประจักษ์จริง
กำจัดน้ำใจหยาบสันดานบาปทั้งชายหญิง
สัตว์โลกได้พึ่งพิง มละบาปบำเพ็ญบุญ
ข้าฯ ขอประณตน้อมศิรเกล้าบังคมคุณ
สัมพุทธการุญ-ญ ภาพนั้นนิรันดร ฯ (กราบ)



พระธรรมคุณ
(นำ) ธรรมะคือคุณากร(รับพร้อมกัน) ส่วนชอบสาทร ดุจดวงประทีปชัชวาล
แห่งองค์พระศาสดาจารย์ส่องสัตว์สันดาน
สว่างกระจ่างใจมลธรรมใดนับโดยมรรคผล
เป็นแปดพึงยลและเก้ากับทั้งนฤพาน
สมญาโลกอุดรพิสดารอันลึกโอฬาร
พิสุทธิ์พิเศษสุกใสอีกธรรมต้นทางครรไล
นามขนานขานไขปฏิบัติปริยัติเป็นสอง
คือทางดำเนินดุจคลองให้ล่วงลุปอง
ยังโลกอุดรโดยตรงข้าฯ ขอโอนอ่อนอุตมงค์
นบธรรมจำนงด้วยจิตและกายวาจา ฯ (กราบ)

พระสังฆคุณ
(นำ) สงฆ์ใดสาวกศาสดา(รับพร้อมกัน) รับปฏิบัติมา
แต่องค์สมเด็จภควันต์เห็นแจ้งจตุสัจเสร็จบรร-
ลุทางที่อันระงับและดับทุกข์ภัย
โดยเสด็จพระผู้ตรัสไตรปัญญาผ่องใส
สะอาดและปราศมัวหมองเหินห่างทางข้าศึกปอง
บ มิลำพองด้วยกายและวาจาใจ
เป็นเนื้อนาบุญอันไพ-ศาลแด่โลกัย
และเกิดพิบูลย์พูนผลสมญาเอารสทศพล
มีคุณอนนต์อเนกจะนับเหลือตรา
ข้าฯ ขอนบหมู่พระศรา-พกทรงคุณา-
นุคุณประดุจรำพันด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์
พระไตรรัตน์อันอุดมดิเรกนิรัติศัย
จงช่วยขจัดโพยภัยอันตรายใดใด
จงดับและกลับเสื่อมสูญ ฯ (กราบ)