12 กุมภาพันธ์ 2555

เป็นมนุษย์ผู้สูงสุด

เป็นมนุษย์ผู้สูงสุด

 

ทั้งกิ่งใบดอกก้านตระหง่านพริ้ว
จะปลิดปลิวบ้างเพราะลมผสมผสาน
ถึงไม่มีลมหมุนไต้ฝุ่นมาร
มาแผ้วพาลก็ยังร่วงจากบ่วงใบ

แต่อารมณ์ข้างในใจมนุษย์

ไม่รู้สุดสิ้นลงที่ตรงไหน
ทั้งลาภยศเงินตราหามาไว้
เพื่อจะได้ความสุขไม่ทุกข์ตรม

แต่หารู้ไม่ว่าบรรดาสุข

มันเป็นคู่กับทุกข์คลุกประสม
ทั้งสุขทุกข์ดีร้ายไหม้อารมณ์
ไม่เหมาะสมกับการเกิดกำเนิดมา

อันความเกิดเกิดเป็นเช่นมนุษย์

ไม่ควรยุคยื้อแย่งเที่ยวแข่งหา
อำนาจยศสรรเสริญหรือเงินตรา
จนเข่นฆ่ายิงกันสนั่นกรุง

แต่มนุษย์ควรเป็นต้นไม้

ที่เชิดใบดอกระย้าบนฟ้าสูง
ด้วยการสร้างบุญกุศลเป็นผลจูง
ให้จิตสูงเป็นมนุษย์สูงสุดเอย

ที่มา : หนังสือคู่มือดับทุกข์

11 กุมภาพันธ์ 2555

โรคทางใจ มีอยู่ทั่วทุกตัวคน

โรคทางใจ มีอยู่ทั่วทุกตัวคน

 

 

           หนักเบาต่างกันที่อำนาจของกรรมที่ตนกระทำ  คนน่าสงสารในโลกนี้มีมากนัก ทั้งน่าสงสารทางกาย และน่าสงสารทางใจ เราเองแทบทุกคนก็เป็นโรคน่าสงสาร เช่นที่กล่าวแต่เมื่อไม่ใช่โรคทางกาย ก็ไม่เห็นกันไม่รู้กันว่า ตนเป็นคนหนึ่ง จำนวนมหาศาลที่น่าสงสาร และน่าสงสารยิ่งกว่าโรคทางกาย น่ากลัวน่าเป็นห่วงยิ่งกว่าเป็นโรคทางกาย.

         โรคน่าสงสารทางใจตัวเอง ต้องรู้ด้วยตัวของตัวเอง ต้องยอมรับด้วยตัวของตัวเอง จึงจะแก้ไขได้ ไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่มีทางจะรักษาโรคทางใจได้เลย แม้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะเป็นโอสถรักษาโรคทางใจของผู้ที่ไม่ยอมรับ รู้ว่าใจของตนมีโรค นั่นก็คือผู้ไม่ยอมรับการรักษา ไม่ยอมรับโอสถของพระพุทธเจ้า เขาย่อมเป็นคนน่าสงสารตลอดไป.

          พบคนเช่นนี้พึงย้อนดูตนเอง คงจะต้องพบโรคทางใจด้วยกันเพียงแต่ว่าจะมากน้อยหนักเบากว่ากันเพียงไร ตามอำนาจของกรรมที่ได้กระทำมาแล้วเท่านั้น



ที่มา : หนังสืออำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม

7 กุมภาพันธ์ 2555

กรรมของผู้ไม่เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป

กรรมของผู้ไม่เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป



       เราได้เหน็ดเหนื่อยกันมาตลอดทั้งวันแล้ว จากการประกอบภารกิจหน้าที่การงาน การศึกษาเล่าเรียน ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป เราจะได้ให้โอกาสแก่ตัวของเราเอง ในการแสวงหาสาระอันแท้จริงของชีวิต เพิ่มเติมสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดให้กับชีวิตของเราด้วยการปฏิบัติธรรม ชีวิตจะได้ประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม ให้ใจอยู่ในกระแสธรรม จะได้มีความสุขสดชื่นเบิกบาน คลายจากความเหน็ดเหนื่อยที่เราได้ตรากตรำกันมาตลอดทั้งวัน ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่เราจะได้ฝึกใจให้หยุดนิ่ง เพื่อทำความบริสุทธิ์ให้บังเกิดขึ้นในใจ จะได้เข้าไปพบกับพระรัตนตรัยภายใน
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
 
                         “น ตํ กมฺมํ กตํ สาธุ     ยํ กตฺวา อนุตปฺปติ
                          ยสฺส อสฺสุมุโข โรทํ    วิปากํ ปฏิเสวติ
 
     บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง เป็นผู้มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้เสวยผลของกรรมใดอยู่ กรรมนั้นอันบุคคลกระทำแล้วไม่ดีเลย”
 
     อวิชชา คือความไม่รู้แจ้งในพระสัทธรรม เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิต  อวิชชาเป็นรากเหง้าแห่งกิเลสอาสวะทั้งหลาย ที่คอยบังคับให้มนุษย์คิดไม่ดี ส่งผลให้คำพูดและการกระทำไม่ดีตามไปด้วย ความไม่รู้จริงอาศัยความนึกคิดด้นเดานี้ คิดเข้าข้างตนเองบ้างว่า บุญบาปไม่มี หรือสิ่งใดที่ทำไปแล้วคงไม่ส่งผลในภพชาติเบื้องหน้า เมื่อไม่รู้จริง ทำให้เกิดความประมาทมัวเมาในชีวิต เมื่อประมาทก็ทำให้พลั้งพลาดไปทำบาปอกุศล ส่งผลเป็นวิบากกรรมอันทุกข์ทรมานในอบายภูมิ
 
     บาปอกุศลทุกอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าพอทำไปแล้ว จะส่งผลทันทีให้เห็นด้วยตาเนื้อ ถึงแม้ยังมองไม่เห็นผลของกรรมที่จะเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้ก็คือเราจะไม่ค่อยสบายใจ เพราะกรรมดีทุกอย่างที่เราทำจะมีความสุขความสบายใจเป็นผล ส่วนกรรมชั่วที่ทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ก็มีความทุกข์ทรมานเป็นผลกรรมตอบแทน เมื่อถึงเวลานั้นได้แต่บอกว่าสายเกินไปเสียแล้ว จะกลับมาเริ่มต้นใหม่เพื่อสั่งสมบุญให้กับตนเองอีกครั้ง ก็ต้องใช้เวลาอีกยาวนาน เพราะบาปกรรมที่เราทำลงไปนั้นแม้จะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม จะส่งผลเป็นวิบากที่ยาวนานเกินกว่าที่เราคาดคิดเอาไว้เสียอีก

 

 
     เหมือนในยุคก่อนพุทธกาล มีเศรษฐีท่านหนึ่งชื่อธนปาลกะ อาศัยอยู่ในเอรกัจฉปัณณรัฐ เป็นผู้ไม่มีศรัทธาและ มีความตระหนี่ เป็นนัตถิกทิฐิบุคคลคือมีความเห็นว่าบุญบาปไม่มี คิดว่าสิ่งที่ทำไปแล้วในโลกนี้ จะไม่ส่งผลใดๆ ในภพชาติเบื้องหน้า เพราะโลกหน้าไม่มี จึงไม่ทำบุญกุศลเลยตลอดชีวิต มัวแต่ทำมาหากิน รวบรวมทรัพย์สมบัติเอาไว้มากมาย เมื่อละโลกจึงไปบังเกิดเป็นเปรตใน ทะเลทราย มีร่างกายสูงประมาณเท่าต้นตาล มีผิวหนังปูดขึ้น ผมเผ้ารุงรังยุ่งเหยิงไปหมด รูปร่างผิวพรรณน่าเกลียดน่ากลัวมาก เปรตเศรษฐีต้องอดอาหารอยู่นานถึง ๕๕ ปี อยากจะดื่มน้ำแก้กระหายก็ไม่มีให้ดื่ม ริมฝีปากและลิ้นแห้งผาก ถูกความหิวกระหายครอบงำ เที่ยวเดินงุ่นง่านไปตามท้องทะเลทรายอันเวิ้งว้างที่ธุรกันดาร เพื่อแสวงหาอาหารและน้ำดื่ม แต่ก็ไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านั้นตามความปรารถนา ต้องเป็นเปรตผู้หิวโหยอยู่ตลอดเวลา
 
     ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ได้มีพวกพ่อค้าชาวกรุงสาวัตถีบรรทุกสินค้าเต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียนไปค้าขายต่างแดนเป็นเวลาแรมปี ในระหว่างทางได้ปลดเกวียนพักแรมอยู่กลางทะเลทราย ตั้งใจว่าจะนอนพักสักหนึ่งคืน ตกดึกของคืนวันนั้น เปรตก็ออกแสวงหาน้ำดื่มตามสถานที่ต่างๆ อย่างเช่นเคย บังเอิญผ่านมาบริเวณที่พ่อค้ากำลังหลับนอนกันอยู่พอดี แต่เนื่องจากอดอยากมานานจึงหมดเรี่ยวหมดแรง ขาอ่อนล้มลงเหมือนตาลรากขาด พวกพ่อค้านึกว่าต้นไม้โค่นล้ม ก็รีบปลุกกันไปมุงดู แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ ก็ต้องแปลกใจกันใหญ่ เพราะสิ่งที่เห็นนั้นคือเปรต จึงไต่ถามว่า “ทำไมจึงมานอนร้องโอดครวญอยู่ที่นี่”
 
     เมื่อรู้ว่า สิ่งมีชีวิตที่น่าเกลียดน่ากลัวและมีกลิ่นเหม็นนั้นคือเปรต ก็ขนลุกขนพองหวาดกลัวไปตามๆ กัน ครั้นพิจารณาแล้วเปรตตนนี้ไม่มีเรี่ยวแรง  และไม่ได้มาร้าย จึงถามเรื่องราวบุพกรรมของเปรตว่า "ท่านทำกรรมชั่วอะไรเอาไว้ จึงมาเกิดเป็นเปรต ทนทุกข์ทรมานอยู่ในทะเลทรายเช่นนี้"
 
     เปรตได้สารภาพบาปของตนเองให้พวกพ่อค้าฟังว่า “เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นเศรษฐีอยู่ในเมืองเอรกัจฉะ มีพระเจ้าทสันนราชเป็นพระราชา ประชาชนเรียกข้าพเจ้าว่า ธนปาลเศรษฐี ข้าพเจ้ามีทรัพย์ ๘๐ เล่มเกวียน แม้จะมีทรัพย์มากมายถึงเพียงนั้นก็ตาม แต่ไม่ได้ให้ทาน ได้ปิดประตูบริโภคอาหารตามลำพังคนเดียว เพราะไม่อยากให้พวกยาจกมาเห็น ข้าพเจ้าไม่มีศรัทธา เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น เพราะเชื่อว่าบุญบาปไม่มีจริง เป็นเพียงเรื่องราวที่กุกันขึ้นมาเท่านั้น ข้าพเจ้าได้ด่าพวกยาจกและห้ามปรามมหาชนผู้กำลังให้ทาน ทำแต่กรรมชั่วเอาไว้ จึงต้องมาเป็นอย่างนี้
 
     เมื่อก่อนข้าพเจ้าสงวนทรัพย์ไว้ แม้มีทรัพย์สมบัติมากก็ไม่ยอมให้ทาน ข้าพเจ้าไม่เคยทำที่พึ่งในปรโลกให้กับตนเองเลย บัดนี้ได้รับผลกรรมเหล่านั้นแล้ว ต้องมาเดือดร้อนในภายหลัง พ้นจาก ๔ เดือนไปแล้ว ข้าพเจ้าจะต้องตายตกนรกหมก ไหม้อีก เป็นคุกเหล็ก ๔ เหลี่ยม แยกเป็นห้องๆ ล้อมด้วยกำแพงเหล็ก ครอบด้วยแผ่นเหล็ก พื้นนรกเป็นแผ่นเหล็กที่ลุกเป็นไฟ ประกอบด้วยความร้อนแผ่ไปตลอดร้อยโยชน์โดยรอบ ลุกโพลงโชติช่วงตั้งอยู่ตลอดเวลา ข้าพเจ้าจักต้องเสวยทุกขเวทนาในนรกนั้นตลอดกาลนาน นั่นเป็นคติที่จะเกิดขึ้นเพราะได้ทำบาปเอาไว้มาก
 
     เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเศร้าโศกที่จะไปเกิดในนรกอันเร่าร้อนนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอเตือนท่านทั้งหลาย ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายผู้มาประชุมกันที่นี้ พวกท่านอย่าได้ทำกรรมชั่วในที่ไหนๆ ไม่ว่าจะเป็นที่แจ้งหรือที่ลับ ถ้าว่าพวกท่านจักกระทำหรือกำลังทำกรรมชั่วนั้น แม้พวกท่านจะเหาะหนีไปไหนก็หนีไม่พ้น ขอท่านทั้งหลายจงเลี้ยงดูมารดาบิดา ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เป็นผู้เกื้อกูลแก่สมณะพราหมณ์ แล้วท่านจักได้ไปสวรรค์”
 
     พวกพ่อค้าเมื่อได้สดับคำของเปรตแล้ว ความกลัวที่บังเกิดขึ้นจับจิตจับใจในครั้งแรกก็มลายหายสูญ เกิดความสลดสังเวชใจเข้ามาแทนที่ มีแต่ความสงสารเปรต ปรารถนาจะอนุเคราะห์เปรตตนนั้น จึงเอาภาชนะตักน้ำดื่มมา ให้เปรตนอนหงาย กรอกน้ำเข้าทางปาก แต่เมื่อราดน้ำลงไปน้ำก็ไม่ไหลลงสู่ลำคอ เพราะเปรตไม่เคยทำบุญเอาไว้จึงดื่มน้ำไม่ได้ พวกพ่อค้าถามเปรตว่า “ท่านได้ดื่มน้ำบ้างไหม” เปรตบอกว่า “น้ำแม้เพียงหยดเดียวก็ไม่ไหลล่วงลำคอของข้าพเจ้า”
 
     พวกพ่อค้าได้ฟังเช่นนั้น ยิ่งเกิดความสังเวชหนักขึ้น ถามว่า “แล้วทำอย่างไรดีพวกเราถึงช่วยท่านได้ล่ะ” เปรตบอกว่า “หากพวกท่านถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ข้าพเจ้า เมื่อนั้นข้าพเจ้าจึงจะพ้นจากความเป็นเปรต” ครั้นรุ่งเช้าเปรตก็อันตรธานหายไป พวกพ่อค้าซึ่งไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันทั้งคืน รีบเดินทางไปกรุงสาวัตถี เข้าไปกราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างทางให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พร้อมกับช่วยกันถวายทานตลอด ๗ วัน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เปรตผู้หิวโหยตนนั้น ด้วยหวังว่าจะช่วยให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน
 
     เราจะเห็นว่า ชีวิตหลังความตายของผู้ที่ไม่ได้สั่งสมบุญเอาไว้นั้น เป็นชีวิตที่อันตรายและอาภัพอับโชคเหลือเกิน อับโชคคือหมดโอกาสที่จะทำความดีหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้สูงขึ้น หมดโอกาสที่จะสั่งสมบุญเหมือนอยู่ในโลกมนุษย์ ต้องไปทุกข์ทรมานด้วยวิบากกรรมที่ตนเองได้ก่อเอาไว้อย่างเดียว ดังนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลายให้ละชั่ว ทำแต่ความดี และทำใจให้ผ่องใส จะได้มีสุคติเป็นที่ไป เพราะพระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ทรงรู้เห็นด้วยสัพพัญญุตญาณว่า นิพพาน ภพสาม โลกันต์เป็นอย่างไร จะไปสวรรค์และนิพพานได้อย่างไร จึงทรงมุ่งสั่งสอนให้ละเว้นจากบาปอกุศลทั้งปวง ให้ทำแต่บุญกุศลล้วนๆ เพราะฉะนั้นให้หมั่นประพฤติธรรม สั่งสมบุญกันอย่างเดียว อย่าได้ประมาทในชีวิต เส้นทางไปสู่สวรรค์และนิพพานของเราจะได้ราบรื่นกันทุกคน


 มก. เล่ม ๔๙ หน้า ๒๑๒


6 กุมภาพันธ์ 2555

สารชมรมพุทธ ประจำวันที่ 1 กันยายน 2554


สารชมรมพุทธ ประจำวันที่ 1 กันยายน 2554









สารชมรมพุทธ ประจำวันที่ 8 กันยายน 2554

สารชมรมพุทธ ประจำวันที่ 8 กันยายน 2554









สารชมรมพุทธ ประจำวันที่ 15 กันยายน 2554

สารชมรมพุทธ ประจำวันที่ 15 กันยายน 2554









สารชมรมพุทธ ประจำวันที่ 12 มกราคม 2555

สารชมรมพุทธ ประจำวันที่ 12 มกราคม 2555