18 มีนาคม 2555

ก้าวสู่ความสำเร็จในการทำงานตามแนวพุทธ

ก้าวสู่ความสำเร็จในการทำงานตามแนวพุทธ


 

          นอกจากเราจะใช้สติปัญญาในการทำงาน เพื่อแก้ปัญหาและหาหนทางเจริญก้าวหน้าอยู่นั้น มีทฤษฎีมากมายที่หวังให้เราปฏิบัติตาม ลองย้อนกลับมาใช้ธรรมะง่ายๆ ที่ให้คุณประสบความสำเร็จในการทำงานสูงสุด

         ธรรมะที่เราควรจะหยิบยกมาใช้ในการทำงานทุกวันนี้ คงหนีไม่พ้นอิทธิบาท 4 เพราะความหมายของอิทธิบาท 4 คือธรรมให้ถึงความสำเร็จ หรือหนทางแห่งความสำเร็จนั่นเอง โดยหลักอิทธิบาท 4 นั้นเป็นหลักธรรมสำคัญที่ทำให้เกิดสมาธิในการทำงาน ไม่ฟุ้งซ่านไปกับสังคมและกระแสต่างๆ พร้อมทั้งตีกรอบให้เราทำงานอย่างคงเส้นคงวาอีกด้วย

      ฉันทะ = ฉันพอใจกับงานที่ทำอยู่  
     มีใครบ้างไหมไม่ชอบงานที่ทำอยู่ ให้คุณลองตรวจสอบตัวเองดูว่า คุณนั้นมีความชอบหรือศรัทธากับงานแบบใด หรือพอใจกับงานแบบใดอยู่ เหมือนกับคุณเป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่กำลังใช้ความคิดใตร่ตรองว่าคุณต้อง การเดินไปเส้นทางใด เรื่องเหล่านี้ไม่มีใครให้คำตอบคุณได้เพราะเป็นความชอบความศรัทธาที่ก่อเกิด จากตัวของคุณเอง

        จริงอยู่ที่งานแต่ละอย่างไม่มีทางที่คุณ จะชื่นชอบไปทั้งหมดทุกกระบวนการ แต่ถ้าคุณพอใจที่จะทำให้ดี สบายใจที่จะต้องเจอมันทุกวันเราเรียกว่าความศรัทธา เป็นสิ่งแรกที่มนุษย์ต้องการและเป็นพื้นฐานของความสำเร็จ อย่างเช่น คุณมีความศรัทธาและใจรักที่จะเป็นพนักงานขายที่ดีและซื่อสัตย์ สิ่งนี้จะเป็นพลังให้คุณเดินไปหาความสำเร็จได้แบบเป็นเส้นตรง และเข้าถึงจิตใจเนื้อแท้ในการทำงานมากกว่าคนที่ไม่ได้มีความศรัทธาใดๆ กับงานที่ทำ

       คุณอาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเอง ฉันทำงานเพื่ออะไร ฉันมีความสุขหรือไม่ เพียงแค่นี้คุณก็จะทราบตัวเองว่ามีความลึกซึ้งกับงานที่ทำอยู่เพียงใด เผื่อเราจะได้มีเวลาค้นหาและปรับเปลี่ยนตัวเอง หรือปรับศรัทธาของตัวเองให้เข้ากับงานที่ทำอยู่

          วิริยะ = ฉันขยันหมั่นเพียรกับงานที่มี
        คงไม่มีคนไหนประสบความสำเร็จโดยปราศจากความเพียร เป็นคำคมที่แปลง่ายแต่ความหมายเหน็ดเหนื่อยยิ่งนัก เพราะความวิริยะนั้นเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่จะนำคุณไปสู่ความสำเร็จ ได้ ยิ่งคุณขยันเท่าไรผลตอบแทนที่คุณจะได้รับมันก็มีมากเท่านั้น ยกตัวอย่างต่อจากหัวข้อฉันทะ คุณเป็นพนักงานขายที่มีความศรัทธากับงานที่ทำ มีความสุขในการทำงานเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ร่วมกับความขยันหมั่นเพียร ไม่เฉยชาที่จะต้อนรับลูกค้า กระตือรือล้นหาลูกค้าใหม่ๆ อยู่เสมอ มีวินัยในการทำงาน ไม่ท้อกับปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามา มีความทุ่มเทอย่างนี้ ตำแหน่งที่สูงขึ้นไปอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน ที่สำคัญความวิริยะจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความศรัทธาของฉันทะนั่นเอง และความวิริยะไม่ใช่การทำงานแบบเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นการหมั่นฝึกฝนตนเองต่างหาก


       จิตตะ = ฉันเอาใจใส่รับผิดชอบกับงานที่ทำ 
       จิตใจที่จดจ่อกับงานไม่วอกแวกไปเที่ยวเล่นล้วนเกิดผลดีต่องานที่ทำ จิตตะเป็นธรรมแสดงถึงสติและจิตใจที่รอบคอบและความรับผิดชอบที่จะตามมา ซึ่งในสังคมการทำงานปัจจุบันนี้มุ่งเน้นแย่งชิงตำแหน่งกัน และขัดขาจนลืมคิดไปว่า งานที่ตนเองต้องรับผิดชอบนั้นคือสิ่งใดกันแน่ จิตตะจึงมีความสำคัญในการทำงานโดยไม่วอกแวกออกไปนอกลู่นอกทาง
ดังนั้น เมื่อคุณมีทั้งฉันทะและวิริยะแล้ว จิตตะจะเป็นเสมือนรั้วของเส้นทางที่ไม่ให้ไขว้เขวออกนอกทางสู่ความสำเร็จได้ รวมทั้งเป็นสติที่สื่อออกมาถึงความมุ่งมั่นที่สูงกว่าความพอใจและความขยัน หมั่นเพียร
 
       วิมังสา = ฉันใคร่ครวญและใช้ปัญญาตรวจสอบงาน  
      สิ่งสุดท้ายในการทำงานคือการใช้ปัญญา ที่เป็นกุญแจสูงสุดของอิทธิบาท 4 เมื่อคุณมีความรักในงานที่ทำ มีความขยันหมั่นเพียร มีสติรับผิดชอบ การมีปัญญาคือการทบทวนตนเองและปัญหา ว่าสิ่งที่เราได้ทำมานั้นมีผลดีผลเสียอย่างไร มีสิ่งใดที่เข้ามากระทบใจเราหรือคนอื่นหรือไม่ เราจะได้รู้จุดยืนของเราว่าทำงานและอยู่ในด้านทุกข์หรือสุข ล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ อย่างเช่น ทบทวนตัวเองนิ่งๆ ว่าวันนี้ทั้งวันเราทำอะไรบ้าง สรุปกับตัวเองว่าทำเพื่ออะไร เราจะได้มีกำลังใจต่อในวันต่อๆ ไป และไม่ทำผิดซ้ำซากอีกเช่นเดิม พร้อมกันนั้นเราจะสามารถเห็นหนทางได้ว่า เส้นทางไหนที่จะนำเราสู่ความสำเร็จได้จริงๆ


ขอขอบคุณ : Lisa Weekly

16 มีนาคม 2555

โทษของคนมักโกรธ


โทษของคนมักโกรธ


     บุคคลผู้มีความปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์  คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย อันเป็นความทุกข์ที่ติดตามเรามานานแสนนาน ต้องอาศัยพลังอำนาจบุญบารมีที่สั่งสมอบรมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน โดยเฉพาะบุญบารมีที่สำคัญมีอานุภาพมาก คือการประพฤติปฏิบัติธรรม ทำใจให้หยุดนิ่งในหนทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นเหตุให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย และเข้าถึงความสุขที่แท้จริง กระทั่งได้บรรลุมรรคนิพพาน


มีวาระพระบาลีที่พระบรมศาสดาตรัสไว้ใน โกธนาสูตร ความว่า


     “คนโกรธมี ผิวพรรณทราม ย่อมนอนเป็นทุกข์ ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ ทำปาณาติบาตด้วยกาย และวาจา ย่อมถึงความเสื่อมทรัพย์ ผู้มัวเมาเพราะความโกรธ ย่อมถึงความไม่มียศ ญาติมิตรและสหาย ย่อมเว้นคนโกรธเสียห่างไกล คนผู้โกรธย่อมไม่รู้จักความเจริญ ทำจิตให้กำเริบ ภัยที่เกิดมาจากภายในนั้น คนผู้โกรธย่อมไม่รู้สึก คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม ความโกรธย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น คนผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้”


     กิเลสทั้งที่เป็นราคะ โทสะ และโมหะ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าเป็นธุลี เป็นทางมาแห่งมลทินในจิตใจของสรรพสัตว์ เพราะกิเลสเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมจะทำให้สรรพสัตว์มืดมน ทำให้สร้างแต่บาปอกุศล โลกของเราก็ไม่มีความสงบสุข มีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายอยู่เป็นนิตย์ บุคคลผู้ต้องการพ้นจากอกุศลธรรม อันเป็นดุจธุลี ๓ ตระกูลนั้น ต้องบำเพ็ญเพียรสร้างความดี ประพฤติปฏิบัติธรรม ลดละเลิกกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ให้ได้  อันเป็นกายหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง


     หากบุคคลใดมีจิตใจที่มืดมน ตกอยู่ในกระแสของกิเลสอาสวะหรือของพญามาร ไม่ประพฤติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย ยังละอกุศลธรรมไม่ได้ บุคคลนั้นย่อมมีแต่ความทุกข์และความลำบากในการดำเนินชีวิต แม้ละโลกไปแล้วก็ต้องทุกข์ต่อในอบายภูมิ


     * ดังเรื่องของ ทุฏฐกุมาร ผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้ากิตกาสะแห่งเมืองพราณสี เมื่อทุฏฐกุมารประสูติแล้ว พระราชาทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอุปราช


     วันที่พระราชโอรสประสูติ พวกโหราจารย์ต่างทำนายลักษณะของพระโอรสและกราบทูลพระราชาว่า ถ้าพระราชโอรสไม่ได้เสวยน้ำดังประสงค์ก็จะสิ้นพระชนม์ทันที ด้วยความรักพระราชโอรส พระองค์ทรงหาหนทางแก้ไขในทันที ทรงรับสั่งให้ขุดสระโบกขรณีที่ประตูเมืองทั้งสี่ทิศด้วยทรงเกรงว่า พระโอรสจะไม่ได้เสวยน้ำตามประสงค์แล้วจะสิ้นพระชนม์ อีกทั้งยังรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันทำปะรำมณฑปตาม ๔ แยกถนน แล้วให้ตั้งภาชนะที่ประณีต ใส่น้ำดื่มไว้จนเต็มตลอดเส้นทางอีกด้วย


     เช้าตรู่วันหนึ่ง พระกุมารได้เสด็จไปพระราชอุทยานพร้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพารเสนาอำมาตย์ ขณะนั้นเองพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตด้วย อาการสงบ น่าเลื่อมใส เมื่อมหาชนเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าต่างพากันออกมานมัสการและใส่บาตร พร้อมทั้งสรรเสริญพระคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้า


     พระราชกุมารผู้เป็นพระอุปราช ทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น แทนที่จะมีโสมนัสเลื่อมใส อนุโมทนาในการกระทำของมหาชน กลับคิดว่า มหาชนรวมทั้งข้าราชบริพารที่ไปกับเราแทนที่จะสรรเสริญเราผู้เป็นพระราชโอรส เพียงผู้เดียวกลับไปสรรเสริญกราบไหว้สมณะโล้น ผู้นุ่งห่มผ้าย้อมฝาด คิดดังนั้นแล้วพระกุมารรู้สึกโกรธ จึงเสด็จลงจากหลังช้างตรงเข้าไปแย่งบาตรในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วโยน ทิ้งลงพื้น จากนั้นก็กระทืบบาตร เหยียบย่ำภัตตาหารที่มหาชนได้ถวายด้วยความเลื่อมใสนั้น


     พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ทรงคุณอันประเสริฐ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ได้แลดูพระพักตร์ของพระราชกุมารด้วยความเมตตา พลางคิดด้วยความกรุณาว่า พระราชกุมารนี้ทรงฉิบหายเสียแล้วเพราะได้ทำกรรมหนักเช่นนี้ จากนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงนิ่งไม่ตรัสอะไร พระราชกุมารจึงตรัสขึ้นว่า “ดูก่อนสมณะ ตัวของข้าพเจ้านี้ เป็นพระราชโอรสของพระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินเมืองพาราณสีนี้ มีนามว่าทุฏฐกุมาร ท่านได้แต่มองดูเรา แต่ก็ทำอะไรเราไม่ได้” ตรัสจบแล้วก็หัวเราะเยาะอย่างร่าเริง แล้วเสด็จหลีกไป ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้าได้เหาะกลับเงื้อมเขานันทมูลกะ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย


     ทันทีที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหาะลับตาไป ทุฏฐราชกุมารผู้ทำบาปกรรมอันหนัก บังเกิดความเร่าร้อนอย่างใหญ่หลวงขึ้นในสรีระ มีความรู้สึกเสมือนร่างกายมีเปลวไฟเผาไหม้ตลอดเวลา ถึงกับล้มลงในที่นั้นเอง เกิดความหิวกระหายน้ำเป็นที่สุด เหล่าเสนาอำมาตย์บริวารต่าง รีบช่วยกันหาน้ำดื่มมาให้พระองค์ แต่น้ำดื่มที่เตรียมไว้ในบริเวณนั้น กลับแห้งขอดทุกแห่ง พระราชกุมารไม่ได้เสวยน้ำ อีกทั้งวิบากกรรมที่ทำไว้กับพระปัจเจกพุทธเจ้า ส่งผลให้พระองค์สวรรคตในที่นั้นทันที และไปบังเกิดในอเวจีมหานรก ถูกเปลวไฟแผดเผา เสวยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส


     จะเห็นว่า ความโกรธเป็นภัยต่อตัวเราอย่างยิ่ง ความโกรธเกิดจากอารมณ์ที่ไม่พอใจ ไม่สบายใจ ขุ่นข้องหมองใจ หงุดหงิด อันเป็นเหตุก่อให้เกิดประทุษร้ายผู้อื่น และเมื่อความโกรธเกิดขึ้นกับผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่หรือมีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง หรือสามัญชนคนธรรมดา ล้วนเป็นเหตุให้พบกับความหายนะความเดือดร้อนและมีความทุกข์เป็นผลในที่สุด โดยเฉพาะผลกรรมที่ทำกับผู้ทรงศีล มีความบริสุทธิ์หมดจด หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวงจึงเป็นกรรมหนักยิ่ง


     ดังนั้นเราต้องระงับความโกรธให้ได้ และระงับกิเลสที่เป็นราคะ โทสะ หรือโมหะ เพราะเมื่อกิเลสเหล่านี้เกิดขึ้นกับบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นมีความเศร้าหมองไม่ผ่องใส เป็นทางมาแห่งธุลี ย่อมจะพบแต่ความทุกข์ทรมาน ผลสุดท้ายย่อมไปบังเกิดในนรกทนทุกข์ทรมานอีกยาวนาน


     กิเลส ๓ ตระกูลคือ ราคะ โทสะ และโมหะ เป็นกับดักของพญามารที่คอยล่อลวงเราให้ตกเป็นทาสของเขา ฉะนั้นคนพาลจึงถูกพญามารควบคุมให้เป็นไปในอำนาจของกิเลส แต่สำหรับผู้ที่หมั่นฝึกฝนอบรมตนเองมาดีแล้ว ทั้งมีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน ย่อมสามารถขัดเกลากิเลสที่มีอยู่ในจิตใจ ซึ่งเป็นธุลีละเอียดที่ติดอยู่ในใจให้หมดได้ ด้วยการทำความดี ทั้งให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนานั่นเอง

     การประพฤติปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา นับเป็นหนทางที่ดีที่สุด ในการกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป เพราะเป็นการชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์  ที่จะทำให้เรารู้ทุกสิ่งทุกอย่าง และที่สำคัญคือ เราจะรู้เท่าทันกิเลสและสามารถกำจัดกิเลสอาสวะที่หมักดองอยู่ในจิตใจให้หมด สิ้นไปได้